ส.องค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญฯ เรียกร้องกกพ. ลาออก หลังขึ้นค่า Ft ผลักภาระค่าไฟฟ้าให้ปชช.

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 9, 2018 11:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกแถลงการณ์เรียกร้องคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) แสดงสปิริตลาออก หลังมีมติประกาศขึ้นค่าเอฟทีครั้งแรกในรอบ 16 เดือนส่งผลให้ในปี 2562 อัตราค่าไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นอีก 4.30 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ประชาชนจะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น อยู่ที่ 3.64 บาทต่อหน่วย(ไม่รวม VAT) จากปัจจุบันที่ต้องจ่าย 3.60 บาทต่อหน่วย

การประกาศขึ้นค่าไฟฟ้าดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการกำกับกิจการพลังงานที่ล้มเหลวของ กกพ. ชุดใหม่ที่พึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยสิ้นเชิง ซึ่งเป็นการอาศัยจังหวะเวลาที่เป็นรอยเชื่อมต่อของโรดแมพของการเลือกตั้งที่ประชาชนมุ่งให้ความสนใจต่อการเกิดขึ้นของพรรคการเมือง การทำกิจกรรมของพรรคการเมือง และการเร่ร่อนขายอุดมการณ์ของนักการเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นเป็นอย่างยิ่ง

"การผลักภาระค่าไฟฟ้าผ่านการขึ้นค่าเอฟที จึงเป็นการเพิ่มภาระให้กับประชาชนทั้งประเทศในยุคเศรษฐกิจตกต่ำอยู่ในขณะนี้ จึงเป็นสิ่งที่ไม่สมควรเป็นอย่างยิ่ง ถ้า กกพ.หมดปัญญาที่จะกำกับกิจการพลังงานเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค โดยควบคุมราคาค่าไฟฟ้าไม่ให้สูงเกินไปจากราคา 3.60 บาทต่อหน่วย ก็ควรถือสปิริตลาออกไปเสีย อย่ามานั่งเกินเงินเดือนจากภาษีของประชาชนต่อไปเลย และที่สำคัญควรจะใช้อำนาจสั่งระงับหรือยุติเงินกินเปล่าที่จะต้องจ่ายให้กับนายทุนผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าเอกชนต่าง ๆ ทั้งหมดเสีย เพื่อให้นายทุนไฟฟ้ามาร่วมรับผิดชอบในการผลิตไฟฟ้าเกินด้วย เพื่อนำไปสู่การลดต้นทุนไฟฟ้าทั้งระบบ และจะนำไปสู่การลดค่าเอฟทีได้ในที่สุดด้วย" แถลงการณ์ระบุ

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากข้ออ้างของ กกพ. ที่นำปัจจัยด้านราคาเชื้อเพลิงที่นำมาผลิตกระแสไฟฟ้ามาเป็นดรรชนีกำหนดราคาค่าเอฟที เพื่อผลักภาระให้กับประชาชน โดยไม่ยกเอาความผิดพลาดล้มเหลวในการอนุญาตให้มีการผลิตกระแสไฟฟ้าออกมามากจนล้นระบบ โดยปล่อยให้ กฟผ. และบริษัทนายทุนพลังงานต่าง ๆ เข้ามาประมูลการสร้างและขายไฟฟ้าเข้าระบบจนเกินความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งปัจจุบันมีการป้อนไฟฟ้าเข้าสู่ระบบมากถึง 43,075.15 เมกะวัตต์ โดย กฟผ.ผลิตเพียง 15,763.83 เมกะวัตต์ หรือ 30.67 % ขณะที่ปล่อยให้ภาคเอกชนผลิตถึง 27,311.32 เมกะวัตต์หรือ 63.40% ขณะที่สถิติความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2561 มีเพียง 27,430.20 เมกะวัตต์เท่านั้น ซึ่งเกินไปกว่าความต้องการเกือบ 1 เท่าตัว ซึ่งทำให้เอกชนผู้ผลิตไฟฟ้ากลายเป็น "เสือนอนกิน" เพราะสัญญาได้ผูกมัดบังคับให้รัฐต้องซื้อไฟฟ้าในราคาที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้าแน่นอนแล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ