ผู้ว่าธปท. ชี้ศก.ไทยปี 62 ยังต้องเผชิญความเสี่ยงจากสงครามการค้า-ความผันผวนตลาดเงินตลาดทุน-ทิศทางดอกเบี้ย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 22, 2018 14:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาเศรษฐกิจประจำปี สมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ ปี 2561 ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2562 ยังมีหลายปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม เพราะขณะนี้บรรยากาศของเศรษฐกิจโลกต่างไปจากเดิม ซึ่งแม้ขณะนี้เศรษฐกิจของประเทศขนาดใหญ่ เช่น สหรัฐยุโรป ญี่ปุ่น ยังมีแนวโน้มการขยายตัวค่อนข้างดี แต่ในภาพรวมแล้วยังมีความเสี่ยงอยู่หลายเรื่อง ได้แก่ 1. ความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะปัญหาสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่เริ่มมีความรุนแรงมากขึ้นและไม่น่าจะจบลงได้ง่ายนัก เนื่องจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่ทยอยออกมา ค่อนข้างเป็นมาตรการที่หวังผลในระยะยาว ขณะที่ตัวเลขการส่งออกของหลายประเทศในเอเชียที่เป็น supply chain เช่นเดียวกับไทย อาจไม่ได้ลดลงมากนักในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากมีการสั่งซื้อสินค้าไว้ล่วงหน้าแล้วจากการคาดการณ์ว่าจะมีมาตรการกีดกันทางการค้าเกิดขึ้น ดังนั้นผลกระทบที่เกิดจากมาตรการกีดกันทางการค้าน่าจะเริ่มเห็นความชัดเจนในช่วงต้นปีหน้า

อย่างไรก็ดี จากมาตรการกีดกันทางการค้าที่เกิดขึ้นนั้น ทำให้เกิด Trade Diversion ซึ่งมีทั้งผลบวกและผลลบ กล่าวคือ ในผลด้านบวก สินค้าบางรายการที่สหรัฐฯ เคยนำเข้าจากจีน แต่เมื่อมีกำแพงภาษีสูงขึ้นทำให้สินค้าจากจีนแพงขึ้นตามนั้น ผู้นำเข้าสหรัฐก็จะต้องไปหาผู้ผลิตสินค้าจากประเทศอื่นมาทดแทน ซึ่งกรณีนี้ทำให้สินค้าไทยได้รับอานิสงส์โดยตรง นอกจากนั้น สงครามการค้ารอบนี้ ทำให้จีนต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ โดยต้องกระจายแหล่งผลิตไปยังประเทศอื่นมากขึ้น ซึ่งการที่ประเทศไทยมีโครงการลงทุนใน EEC ก็จะทำให้เป็นสิ่งดึงดูดการลงทุนให้จีนสนใจเข้ามาลงทุนในไทยและในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น ซึ่งถือเป็นกระบวนการสร้าง Reginal Supply Chain รอบใหม่ ซึ่งคงต้องใช้ระยะเวลาอีกระยะ

ส่วนในทางกลับกันที่เป็นผลด้านลบนั้น กรณีสินค้าจากประเทศจีนที่เคยส่งเข้าไปยังสหรัฐฯ ได้ แต่ปัจจุบันไม่สามารถส่งออกได้แล้ว จึงจำเป็นต้องหาตลาดใหม่ ดังนั้นจึงทำให้จีนหันมาใช้วิธีการดัมพ์ราคา เพื่อส่งสินค้าเข้าไปขายในประเทศอื่นๆ มากขึ้นรวมทั้งไทย ซึ่งในจุดนี้ถือเป็นผลกระทบที่ต้องจับตา

2. ความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาดเงินตลาดทุนโลก ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาหลังจากเกิดวิกฤติการเงินโลก ทำให้ประเทศอุตสาหกรรมหลักใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากผิดปกติ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำมาก เศรษฐกิจโลกในช่วงที่ผ่านมา จึงเป็นเศรษฐกิจที่ได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวของการก่อหนี้ในระดับสูง โดยหลายประเทศที่กระตุ้นเศรษฐกิจแรง จะเห็นได้ว่ามีการก่อหนี้จำนวนมาก ทั้งหนี้ภาครัฐ หนี้ภาคเอกชน รวมทั้งหนี้ภาคครัวเรือน แต่วันนี้อัตราดอกเบี้ยในระบบการเงินโลกเริ่มปรับสูงขึ้น โดยยังมีเพียงธนาคารกลางสหรัฐแห่งเดียวที่ขึ้นดอกเบี้ยมาอยู่ในระดับปกติ ในขณะที่ธนาคารกลางยุโรป และธนาคารกลางญี่ปุ่นอาจจะต้องใช้เวลาอีกระยะ

ทั้งนี้ ความผันผวนของตลาดเงินตลาดทุนถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากไม่สามารถบริหารจัดการความเสี่ยงให้ดี ก็อาจทำให้เกิดปัญหาสะดุดทั้งต้นทุน และสภาพคล่อง ซึ่งในส่วนของธปท.เอง พยายามรักษานโยบายอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ แต่อัตราดอกเบี้ยในตลาดพันธบัตร และตลาดตราสารหนี้ค่อยเริ่มปรับสูงขึ้น เนื่องจากระบบการเงินมีความเชื่อมโยงกัน

3. ความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ย ซึ่งการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน ย่อมมีผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นต่อระบบการเงิน ทำให้เกิดการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่า และมีการประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควรจะเป็น การที่เศรษฐกิจขยายตัวโดยอาศัยหนี้เป็นหลักจะสร้างผลกระทบในระยะยาว และกลายเป็นจุดเปราะบางในระบบการเงินอันจะนำไปสู่ปัญหาที่ใหญ่กว่าในระยะยาวได้

ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ธปท.จะมีการประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจก่อนตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงินในแต่ละครั้ง โดยยึดหลัก Data Dependent เป็นสำคัญ เนื่องจากไทยเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดเล็กและเป็นเศรษฐกิจแบบเปิด ที่มีความเชื่อมโยงกับต่างประเทศ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงของตลาดเงินตลาดทุนโลกที่มีอยู่ตลอดนั้น จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ ธปท.ต้องนำมาใช้พิจารณาในแต่ละช่วงเวลา เพื่อตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงินให้มีความเหมาะสมมากที่สุด

"การที่แบงก์ชาติไม่ประกาศ dot plot การขึ้นดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า เหมือนกับที่ธนาคารกลางสหรัฐทำ เพื่อใช้เป็นข้อมูลให้ตลาดได้รับทราบ เพราะสหรัฐเป็นประเทศใหญ่ เศรษฐกิจด้านต่างประเทศมีขนาดเล็ก แต่ไทยเป็นประเทศเล็ก แบบเปิด สภาวะเศรษฐกิจที่เราเผชิญมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ตลาดเงิน ตลาดทุนโลกก็เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้นหลักการตัดสินนโยบายที่เป็น Data Dependent จึงเป็นเรื่องสำคัญ" นายวิรไทกล่าว

ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า กรณีที่มีการพูดกันว่าหมดยุคอัตราดอกเบี้ยต่ำแล้ว อาจจะถูกแค่ครึ่งเดียว แต่ในความเป็นจริงนั้น อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าระดับปกติต่อเนื่องเป็นเวลานานถือว่ามีความจำเป็นน้อยลง แต่นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ยังคงมีความจำเป็นอยู่ เพียงแต่การผ่อนคลายมากเป็นพิเศษดังเช่นปัจจุบันจะมีความจำเป็นน้อยลง

"ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับ 1.50% ถ้ามองถอยหลังไปปี 2009 อัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำสุดอยู่ที่ 1.25% หลังเกิดวิกฤติการเงินโลก เศรษฐกิจไทย -0.9% ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายเริ่มมาอยู่ที่ 1.50% เมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว ในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจไทยโตแค่ 0.7% จะเห็นได้ชัดว่าการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำเป็นพิเศษต่อเนื่องเป็นเวลานาน ก็เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ ซึ่งปัจจุบันเศรษฐกิจไทยก็มีความเข้มแข็งขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมามาก

"ดังนั้นหากอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับที่สูงกว่านี้ ก็เชื่อว่าจะไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจมาก ถ้าปีนี้ GDP อยู่ที่ 4% ต้นๆ และปีหน้าอยู่ที่ 3% ปลายๆ หรือ 4% ต้นๆ ซึ่งขึ้นกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทยตอนนี้เข้มแข็งกว่าอดีตมาก การที่อัตราดอกเบี้ยต่ำนานๆ มันสร้างผลข้างเคียง วันนี้อาจจะไม่รู้สึก แต่มันอาจจะเป็นปัญหาได้ในระยะยาว"

"เวลาที่บอกว่า หมดยุคดอกเบี้ยต่ำแล้ว ทำให้คนเข้าใจว่าเมื่อไรก็ตามที่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย จะขึ้นต่อเนื่องทุกครั้งนั้น ซึ่งไม่ใช่ แต่เราจะใช้หลัก Data Dependent ประเมินก่อนทุกครั้ง หลายธนาคารกลางก็ขึ้นดอกเบี้ย แล้วก็หยุดประเมินดูสถานการณ์ก่อน ว่าจะปรับหรือไม่ปรับต่อเนื่อง ซึ่งการที่เราเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดเล็ก แบบเปิด จะต้องประเมินสถานการณ์ต่างๆ อย่างรอบคอบ" นายวิรไทกล่าว

พร้อมมองว่า กันชนด้านเศรษฐกิจต่างประเทศของไทยถือว่ามีความเข้มแข็งกว่าประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นประเทศเศรษฐกิจใหม่เช่นเดียวกับไทย ทั้งในแง่ทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง, การเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ที่ปีนี้คาดว่าจะอยู่ในระดับ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป และการก่อหนี้ต่างประเทศของภาคธุรกิจไทยอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้นหากเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว จะเห็นได้ว่าไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เข้าสู่ระดับปกติ ในขณะที่อินโดนีเซียที่เศรษฐกิจด้านต่างประเทศอ่อนแอกว่าไทย แต่ก็มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปถึงระดับ 6% แล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ