นายกฯ ชี้ 4 มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่ออกมาเพิ่มเติม ช่วยตอบโจทย์ผู้มีรายได้น้อยได้ตรงจุดมากขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday November 24, 2018 09:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวกับประชาชนผ่านรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" โดยระบุว่า จากการสำรวจและสอบถามถึงปัญหา และความต้องการได้รับความช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมทั้งการวิเคราะห์ฐานข้อมูลที่มีในปัจจุบัน ทราบว่าการดำเนินการที่ผ่านมานั้น สามารถตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายได้ ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ทั้งหมด แต่ก็จำเป็นต้องมีมาตรการที่เจาะจงเฉพาะกลุ่มลงไปเพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุด

"การอยู่ร่วมกันในสังคม เราจำเป็นต้องเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข โดยเฉพาะความทุกข์ที่เป็นผลมาจากการขาดโอกาสในอดีต หรือเลือกเกิดไม่ได้ ซึ่งเขาเหล่านั้นต้องการโอกาสตั้งตัวหรือการผ่อนปรนภาระบางส่วน" นายกรัฐมนตรีกล่าว

พร้อมระบุว่า รัฐบาลพยายามจะปรับมาตรการให้ตรงจุด ตรงความเดือดร้อนของแต่ละกลุ่ม โดยล่าสุดได้มีมาตรการเพิ่มเติมอีก 4 มาตรการ คือ 1. มาตรการช่วยเหลือค่าน้ำ - ค่าไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยเหลือผู้ที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 50 หน่วย แต่ไม่เกิน 230 บาทต่อเดือน และน้ำประปาไม่เกิน 100 บาทต่อเดือน ซึ่ง 1 ครัวเรือน ใช้ได้เพียง 1 สิทธิเท่านั้น มาตรการชั่วคราวนี้จะเริ่มตั้งแต่ ธ.ค.61 ถึง ก.ย.62 คิดเป็นระยะเวลา 10 เดือน 2. การสนับสนุนค่าใช้จ่ายช่วงปลายปีคนละ 500 บาท ในเดือนธันวาคมเพียงเดือนเดียว 3.ค่าเดินทางไปรักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอื่นเกี่ยวกับสุขภาพ คนละ 1,000 บาท สำหรับผู้มีบัตรสวัสดิการฯ ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป โดยจะได้รับครั้งเดียวในเดือนธันวาคมนี้และ 4. ค่าเช่าบ้าน คนละ 400 บาทต่อเดือน สำหรับผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยจะได้รับเงินในกระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่ ธ.ค.ปีนี้ ถึง ก.ย.ปีหน้า

"เป็นการเติมเงินเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ จากทั้ง 4 มาตรการนี้ ผู้มีรายได้น้อยสามารถจะถอนเป็นเงินไปใช้จ่ายได้ เหมือนบัตร ATM โดยงบประมาณที่ใช้ เป็นเงินจากกองทุนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ผู้มีรายได้น้อย ได้อย่างตรงจุดมากยิ่งขึ้น" นายกรัฐมนตรีกล่าว

นอกจากนี้ เนื่องจากประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สู่วัย ปัจจุบันยังมีผู้สูงอายุต้องเผชิญกับปัญหารายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย เนื่องจากค่าครองชีพสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อค่ายา และค่าเดินทาง ซึ่งข้าราชการเกษียณจำนวนไม่น้อย หากได้รับการปรับอัตราและวิธีการจ่ายบำเหน็จ - บำนาญใหม่ ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจอย่างเหมาะสม ก็จะช่วยให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้อย่างมีความสุขมากขึ้น โดยอยู่ระหว่างการปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง 2 เรื่อง ได้แก่ 1.การปรับเพิ่มเบี้ยหวัดบำนาญ ซึ่งปัจจุบันยังต่ำกว่าเดือนละ 10,000 บาท ให้ได้รับเต็มจำนวน 10,000 บาทต่อเดือน และ 2. การขยายเพดานของวงเงินบำเหน็จดำรงชีพ ให้แก่ผู้รับบำนาญซึ่งมีอายุตั้งแต่ 70 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป เพิ่มอีก 100,000 บาท จากเดิมเพดานไม่เกิน 400,000 บาท ปรับใหม่เป็น 500,000 บาท

นอกจากนี้ รัฐบาลได้ให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ จัดทำ"โครงการบ้านล้านหลัง" เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยได้มีบ้านเป็นของตนเองในระดับราคาที่ไม่สูงมาก และเหมาะสมกับศักยภาพการหารายได้ของประชาชนในแต่ละกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ กลุ่มวัยทำงาน หรือประชาชนที่กำลังเริ่มต้นสร้างครอบครัว รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุ โดยจะมีการสนับสนุนสินเชื่อที่อยู่อาศัย ในเงื่อนไขผ่อนปรนสำหรับลูกค้ารายย่อย เพื่อจะนำไปจัดซื้อหรือปลูกสร้างที่อยู่อาศัย วงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท มีระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 40 ปี เป็นต้น ซึ่งโครงการนี้จะมีระยะเวลาดำเนินโครงการ ตั้งแต่ 20 พ.ย.61 ถึง 30 ธ.ค.62

"รายละเอียดสวัสดิการต่าง ๆ อยากให้พี่น้องประชาชนได้ติดตาม สอบถาม ตรวจสอบข้อมูล ตามช่องทางต่าง ๆ ของภาครัฐด้วย เพื่อจะขอรับสวัสดิการหรือสิทธิที่พึงมี พึงได้ของท่าน จะได้ไม่ขาดตกบกพร่อง เนื่องจากเป็นโอกาสที่รัฐบาลพยายามที่จะหยิบยื่นให้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน" นายกรัฐมนตรีระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ