(เพิ่มเติม) TMB ปรับลดประมาณการศก.ไทยปี 62 ลงเหลือโต 3.8% จากเดิม 4% รับแรงกดดันส่งออก-บริโภคในประเทศ-ท่องเที่ยวชะลอ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 26, 2018 17:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหาร TMB Analytics ธนาคารทหารไทย (TMB) ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 62 เหลือโต 3.8% จากเดิมคาด 4% รวมทั้งปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 61 เหลือเติบโต 4.0% จากเดิมมองไว้ที่ 4.5% เหตุจากปัจจัยนอกประเทศเป็นหลัก

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ส่งผลลบชัดเจนแก่เศรษฐกิจในปีหน้า ได้แก่ ภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน ส่งผลให้การส่งออกของไทยลดลงราว 1 พันล้านดอลลาร์หรือ 0.4% รวมทั้งเผชิญกับการตั้งกำแพงภาษีบนสินค้าไทยและตัดสิทธิ GSP จากสหรัฐฯ เป็นปัจจัยส่งผลลบฉุดส่งออกไทยลดลงไปราวอีก 0.1% โดยคาดว่าภาพรวมการส่งออกในปี 62 จะเติบโตได้เพียง 4.3% ลดลงจากปีนี้ที่คาดว่าจะเติบโต 7.4%

ขณะที่การบริโภคในประเทศยังคงไม่ฟื้นตัวขึ้นในปีหน้า เนื่องจากรายได้ของเกษตรกรยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัว เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรที่เป็นยางพารา อ้อย และปาล์มยังไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาข้าวและมันสำปะหลังปรับขึ้นมาเล็กน้อย ซึ่งยังไม่สามารถช่วยชดเชยกันได้ และการที่ยอดขายรถยนต์นปีนี้ปรับเพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยหนุนให้การบริโภคครัวเรือนเพิ่มขึ้นถึงจุดสูงสุดแล้ว และในปี 62 จะมีแนวโน้มที่กลับมาชะลอตัวลง ซึ่งการที่ยอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้น สะท้อนไปถึงการที่ภาคครัวเรือนจะมีการก่อหนี้เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อกำลังซื้อที่จะหายไปในปี 62 ตามมา โดยที่คาดว่าการบริโภคครัวเรือนในประเทศปี 62 จะขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ 3.5% จากปีนี้ที่ขยายตัวได้ 4.7%

ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังคงต้องติดตามสถานการณ์ของนักท่องเที่ยวชาวจีนว่าจะกลับมาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้นหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันถือว่าได้สิ้นสุดฤดูกาลท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวชาวจีนจะเดินทางเข้ามาแล้ว คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 61 ปรับตัวลดลงมาที่ 37.5 ล้านคน จากปีก่อนที่ 38.5 ล้านคน และคาดว่าในปี 62 อาจจะเพิ่มขึ้นไม่มากนักมาอยู่ที่ 40.2 ล้านคน ซึ่งยังเป็นสิ่งที่ต้องจับตาดูว่าประเทศไทยจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวกลับมาท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นได้หรือไม่

อย่างไรก็ตามปัจจัยที่คงช่วยผลักดันการขยายตัวของเศราฐกิจไทยได้ในปี 62 ยังคงเป็นการลงทุนภาคเอกชนที่เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก หลังจากโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานภายใต้เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เช่น รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน สนามบินและศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา ท่าเรือแหลมฉะบังจะเริ่มเห็นการก่อสร้างในครึ่งหลังของปี 62 คิดเป็นเม็ดเงินกว่า 1 แสนล้านบาท

ส่วนโครงการของภาคเอกชนคาดว่าจะเริ่มเห็นการลงทุนของอุตสาหกรรม S-Curve ที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในปี 59-60 โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ ปิโตรเคมี เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้การลงทุนภาคเอกชนในปี 62 จะขยายตัวได้สูงถึง 5.4% จากปีนี้ที่ขยายตัวได้เพียง 3.8%

"การที่เศรษฐกิจไทยในปี 62 จะขยายตัวได้เกิน 4% ถือว่าเป็นไปได้ยากมาก เพราะปัจจัยสำคัญ 3 อย่างที่ช่วยให้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจยังไม่สามารถเติบโตได้ดี จากปัจจัยภายในและภายนอกที่เข้ามากระทบการส่งออก การบริโภคครัวเรือน และการท่องเที่ยว แต่ยังมีการลงทุนภาคเอกชนที่ยังช่วยขับเคลื่อน หลังจากการลงทุนต่างๆทยอยออกมาชัดเจนมากแล้ว แต่ก็ต้องดูว่าปีหน้าการลงทุนภาคเอกชนจะทำได้ตามที่คาดการณ์หรือไม่ ถ้าหากต่ำกว่าคาดก็มีโอกาสที่ GDP ในปีหน้าลดลงมาอยู่ที่ 3.5% แต่ตอนนี้ประเมินอยู่ที่ 3.8% ไว้เบื้องต้น ซึ่งถือว่าชะลอตัวจากปีนี้ที่ขยายตัวได้ 4%"นายนริศ กล่าว

ด้านแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยขึ้น 0.25% ในการประชุมกลางเดือน ธ.ค.นี้ ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายสิ้นปีนี้อยู่ที่ 1.75% จากปัจจุบันที่ 1.5% เป็นช่วงเวลาที่ทาง กนง.เห็นว่าเหมาะสมที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น และคาดว่าในปี 62 จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้นเพียง 1 ครั้งที่ 0.25% ในช่วงไตรมาส 3/62 ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 2% ในสิ้นปี 62

"การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นของแบงก์ชาติถือว่าสายไปมากแล้ว เพราะแบงก์ชาติอาจจะไม่ Active ในช่วงแรก และทำให้เราช้าและตกรถไฟ ซึ่งเศรษฐกิจไทยได้ผ่านช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัวได้ดีไปแล้วตั้งแต่ต้นปี และก็เริ่มกลับมาชะลอตัวลงในปี 62 จากภาคส่งออก การบริโภคในประเทศ และการท่งเที่ยวที่ชะลอ ทำให้การพิจาณราปรับขึ้นอัตจราดอกเบี้ยในปี 62 ทำได้ค่อนข้างยาก อย่างมากก็เพียงครั้งเดียว หรืออาจะไม่ปรับเพิ่มขึ้นเลย ซึ่งหากปรับขึ้นในปี 62 ครั้งเดียว ทำให้อัตราดอกเบี้ยไทยอยู่ที่ 2% ก็ถือว่ายังต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯที่ 3% ในขณะที่อันดับเครดิตเรตติ้งเราต่ำกว่าสหรัฐฯ 7 notch ซึ่งมีแนวโน้มว่าเงินจะไหลออกไปได้อีก ซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะเงินที่ไหลเข้ามาในตลาดบอนด์ปีนี้ก็มีโอกาสที่ไหลออกไปในปีหน้าได้"นายนริศ กล่าว

ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาทในสิ้นปี 62 คาดว่ามีโอกาสอ่อนค่าแตะ 33.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ จากปัจจัยภายนอกทั้งภาคส่งออกและการท่องเที่ยวที่ชะลอตัว ขณะที่การไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติผันผวนมากขึ้นจากสภาพคล่องโลกที่ตึงตัวมากขึ้น และอาจเป็นการไหลออกสุทธิ กดดันเงินบาททั้งปีเฉลี่ยที่ 33 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าจากเฉลี่ยราว 32.30 บาท/ดอลลาร์ในปี 61 นอกจากนี้ผลตอบแทนพันธบัตรไทย (Bond Yield) ระยะยาวมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ กดดันผลตอบแทนการลงทุนในตราสารหนี้และกระทบต้นทุนการกู้ยืมเงินของภาคเอกชน

นายนริศ กล่าวอีกว่า ทิศทางของระบบธนาคารพาณิชย์ในปี 62 คาดว่าสินเชื่อรวมมีแนวโน้มขยายตัวลดลงเป็น 5.8% จากปี 61 ที่ขยายตัวราว 6.3% ซึ่งสินเชื่อโครงการขนาดใหญ่จะกลับมาเติบโตได้อีกครั้งรับผลดีจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและมาตรการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI และ EEC

ขณะที่ภาพรวมของสัดส่วนหนี้ที่ไม่ให้เกิดรายได้ (NPL) ทั้งระบบธนาคารพาณิชย์จะลดลงเล็กน้อยมาเป็น 2.8% จากปีนี้ที่ 2.9% เพราะการเติบโตของสินเชื่อ และมาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีผลบังคับใช้ในปี 62 แต่ยังต้องติดตาม NPL ของกลุ่มเอสเอ็มอีที่ยังคงไม่เห็นการฟื้นตัวขึ้น โดยที่กลุ่มที่ยังไม่รับผลกระทบ คือ กลุ่มเอสเอ็มอีที่ทำธุรกิจเทรดดิ้ง ซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และเป็นกลุ่มเอสเอ็มอีที่มีสัดส่วนมากที่สุด และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เป็นกลุ่มที่ต้องจับตาม เพราะในปีนี้มีการขยายตัวของสินเชื่อรถยนต์มาก ซึ่งจะต้องดูคุณภาพหนี้ในกลุ่มนี้ว่าจะเป็นอย่างไร

อัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ในปี 62 เป็นสิ่งที่ต้องติดตามว่าหลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นแล้วธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ในประเทศไทยจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์เพิ่มขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันที่ 0.50% ต่อปี หรือไม่ หากมีธนาคารรายใดรายหนึ่งปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์เพิ่มขึ้นจะส่งผลเป็นลูกโซ่ให้ธนาคารอื่นต้องปรับเพิ่มขึ้นตาม และจะมีผลกระทบต่อส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ของธนาคารพาณิชย์ที่อาจจะลดลงได้ ซึ่งปัจจุบันเงินฝากในธธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด 7.2 ล้านล้านบาท อยู่ในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 60%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ