นักวิชาการ แนะภาครัฐออกมาตรการสนับสนุนช่วยเกษตรกรรายย่อยทำตลาดผ่านช่องทางออนไลน์

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 29, 2018 11:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเรวัตร ธรรมาอภิรมย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ถึงความเชื่อมโยงการซื้อขายสินค้าเกษตรผ่านเว็บไซต์ Thaitrade.com พบว่า การซื้อขายสินค้าเกษตร ภาครัฐจะต้องให้ความสำคัญตั้งแต่กระบวนการผลิตสินค้าเกษตร โดยการให้ความรู้ การฝึกอบรม ผ่านทางศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ที่มีอยู่ถึง 882 ศูนย์ทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดการวางแผนการผลิตสินค้าเกษตรทั้งสดและแปรรูปตรงตามความต้องการของผู้บริโภค และมีปริมาณสอดคล้องกับความต้องการของตลาด

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเกษตรกรไทยส่วนใหญ่เป็นรายย่อยดังนั้นเกษตรกรต้องมีการรวมกลุ่มกันเพื่อขายสินค้าซึ่งเป็นการรับประกันว่าจะมีสินค้าที่มีคุณภาพและปริมาณเพียงพอต่อความต้องการ และภาครัฐต้องให้ความรู้เรื่องการดำเนินการซื้อขายสินค้าเกษตรผ่านเว็บไซต์ และสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคมั่นใจในสินค้าเกษตรมากขึ้น โดยเน้นเรื่องมาตรฐานสินค้ารวมทั้งการกำหนดให้มีการระบุแหล่งกำเนิดสินค้า และการชำระเงิน เป็นต้น

นอกจากนี้ภาครัฐควรสนับสนุนด้านการขนส่งที่จำเป็นต่อการขายสินค้าหรือระบบขนส่ง (Logistics) และการหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้แก่กลุ่มเกษตรกรหรือเกษตรกร เพื่ออำนวยความสะดวกในการซื้อขายสินค้าเกษตร

ทั้งนี้เพื่อขับเคลื่อนนโยบายการตลาดนำการผลิตที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บูรณาการร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ ภาครัฐจะต้องเน้นมาตรการสนับสนุนอย่างรอบด้าน ดังนี้ มาตรการด้านการเกษตร ส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพหรือมีลักษณะเฉพาะ เช่น สินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) วางแผนปริมาณผลผลิตในแต่ละช่วงเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการ มาตรการด้านกฎหมายสนับสนุนเกษตรกรจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อยืนยันการมีตัวตนการเป็นผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือ เสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดี และเพิ่มโอกาสทางการตลาดมาตรการด้านเศรษฐศาสตร์ สนับสนุนหรือจัดหาแหล่งสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่กลุ่มเกษตรกรหรือเกษตรกร เพื่อส่งเสริมให้การขายสินค้าเกษตรออนไลน์เพิ่มขึ้น สนับสนุนให้เกษตรกรเกิดการรวมกลุ่ม เป็นสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน และกลุ่มของเกษตรกรรุ่นใหม่ เพื่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาด(Economies of Scale)ของปริมาณผลผลิต และเกิดอำนาจการต่อรองราคาสินค้าเกษตรของเกษตรกรอีกทาง และ มาตรการด้านการศึกษา ให้ความรู้ ฝึกอบรมด้านการทำธุรกรรมผ่านระบบออนไลน์ รวมทั้งการสร้างแบรนด์สินค้า และมาตรการด้านการตรวจสอบสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการใช้ระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) เพื่อให้ผู้บริโภคทราบถึงแหล่งที่มาของสินค้า

ด้านน.ส.จริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายการตลาดนำการผลิตในภาคการเกษตร ซึ่งเป็นแนวคิดด้านการบริหารจัดการสินค้าเกษตรแบบใหม่ สนับสนุนให้เกษตรกรดำเนินการเชื่อมโยงเกษตรกรกับหน่วยงานรัฐ เอกชน ระบบสหกรณ์ ผู้นำเกษตรกร และผู้ค้า โดยปัจจุบันการขายสินค้าเกษตรออนไลน์เป็นช่องทางและโอกาสทางการตลาดที่สำคัญในการขยายฐานลูกค้าจากภายในประเทศสู่ลูกค้าต่างประเทศ โดยเชื่อมโยงการค้ารูปแบบอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) ในยุคดิจิทัล กระทรวงเกษตรฯ ได้เน้นส่งเสริมให้สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และเกษตรกรรายย่อย มีช่องทางเลือกในการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรและแปรรูป พัฒนาช่องทางการค้าขายผ่านช่องทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ตามนโยบาย"ไทยแลนด์ 4.0"

สำหรับการซื้อขายสินค้าเกษตรออนไลน์มีหลายแบบ ทั้งจากผู้ประกอบการต่อผู้ประกอบการ (B2B) ผู้ประกอบการต่อผู้บริโภค (B2C) หรือแม้กระทั่งผู้บริโภคต่อผู้บริโภค (C2C) โดยในปี 2560 ประเทศไทยมีมูลค่าการค้าขายในระบบอีคอมเมิร์ซทั้งสิ้น 2.81 ล้านล้านบาท สำหรับแหล่งการซื้อขายในระบบอีคอมเมิร์ซสำคัญๆในประเทศไทย มีหลายแหล่ง อาทิ อตก.com Agrimart.in.th DGTFarm.com Kaidee.com และ Thaitrade.comซึ่งกรณี Thaitrade.com ที่รองรับการขายสินค้าแบบฺ B2B และ B2C พร้อมรองรับการขายสินค้าไปยังลูกค้าหรือผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งดำเนินการโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดตัวขึ้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2554 ในปัจจุบันมีผู้ซื้อที่ลงทะเบียนกว่า 1.7 แสนราย กระจายอยู่ทั่วโลก มีมูลค่าการซื้อขายกว่า 5.5 พันล้านบาท สินค้ากว่า 200,000 รายการ และในจำนวนดังกล่าว มีสินค้าเกษตรซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าแปรรูปขายประมาณ 6,000 รายการ สำหรับผู้ประกอบการในไทย ลงทะเบียนแล้วกว่า 2.4 หมื่นราย ในจำนวนนี้ประมาณ 1,000 กว่าราย ที่เป็นเกษตรกรหรือผู้ขายสินค้าเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ