(เพิ่มเติม) ส.อ.ท.เผยดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมพ.ย.61 ที่ 93.9 ปรับขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และสูงสุดรอบ 66 เดือน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 19, 2018 10:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมว่า ในเดือนพ.ย.61 ดัชนีความเชื่อมั่นอยู่ที่ระดับ 93.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 92.6 ในเดือนต.ค. โดยเป็นการปรับขึ้นในทุกองค์ประกอบ ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนพ.ย. ปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 และ สูงสุดในรอบ 66 เดือน นับตั้งแต่เดือนมิ.ย.56 จากการสำรวจ พบว่า ผู้ประกอบการเร่งผลิตสินค้าเพื่อชดเชยวันทำงานที่น้อยกว่าปกติในช่วงเดือนธ.ค. ขณะเดียวกันผู้ประกอบการมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่องทำให้ยอดขายในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่น กลุ่มอาหาร กลุ่มยานยนต์ กลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่ต้นทุนประกอบการได้รับผลดีจาการที่ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงและอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลงจากเดือนต.ค.

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้น อยู่ที่ระดับ 107.4 เพิ่มขึ้นจาก 106.7 ในเดือนต.ค. สะท้อนความเชื่อมั่นในอนาคตอยู่ในระดับที่ดี ผู้ประกอบการเชื่อมั่นว่า การเลือกตั้งในช่วงเดือนก.พ.62 จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยเฉพาะในส่วนภูมิภาค

ในระยะสั้น ผู้ประกอบการเสนอให้ภาครัฐใช้โอกาสจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯในการส่งเสริมการส่งออกสินค้าไทยไปทดแทนสินค้าที่ทั้ง 2 ประเทศมีข้อพิพาท ขณะเดียวกันผู้ประกอบการควรปรับตัว เน้นการขยายตลาดส่งออกไปยังตลาดอาเซียน ที่มีสัดส่วนส่งออกกว่า 25% เทียบกับตลาดส่งออกทั้งหมด รวมถึงภาครัฐควรจะต้องมีมาตรการเฝ้าระวังข้อมูลการนำเข้า-ส่งออกและการลงทุนภายในประเทศ บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพิธีการทางศุลกากร เพื่อป้องกันการสวมสิทธิสินค้าจากต่างประเทศและสนับสนุนสินค้าจากผู้ประกอบการไทย เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน

ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานส.อ.ท. กล่าวว่า ทางส.อ.ท.ได้มีการตั้งคณะกรรมการศึกษาผลกระทบจากสงครามการค้า (Trade War) ระหว่างสหรัฐฯกับจีนที่มีต่อเศรษฐกิจไทย เนื่องจากเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกมากกว่า 60% จึงมีผลให้ส.อ.ท.ต้องศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นคณะกรรมการฯ ได้ศึกษาในสินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เนื่องจากมีการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ลดลง อาทิ สินค้าอาหารทะเลกระป๋อง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน และความไม่แน่นอนของวัตถุดิบจากสภาพอากาศแปรปรวน รวมถึงการที่สหรัฯ ดำเนินมาตรการ IUU ซึ่งส่งผลให้ปริมาณการส่งออกลดลง และสินค้าโซลาร์เซลล์ จากการยกเลิกโครงการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ