ธนาคารโลก แนะติดตามนโยบายรัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้ง คาดศก.ไทยปี 62 มีโอกาสโตกว่าประมาณการ หากมีการลงทุนต่อเนื่อง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 20, 2018 14:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ประจำประเทศไทย ธนาคารโลก กล่าวในงานเสวนา หัวข้อ "ส่องเศรษฐกิจปี 62"ว่า ธนาคารโลกได้คาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2562 ไว้ที่ 3.9% แต่ทั้งนี้จะมีการประเมินภาวะเศรษฐกิจใหม่อีกครั้งในช่วงเดือนม.ค.ปีหน้า ซึ่งแนวโน้มที่พอจะมองเห็นคือ การส่งออกที่แย่ลง แต่อุปสงค์ในประเทศกลับเติบโตได้มากกว่าที่คาดไว้

สำหรับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในที่ 4% ถือว่าโตใกล้เคียงระดับเต็มศักยภาพ แต่หากพิจารณาจาก benchmark ของต่างประเทศแล้ว อาจเห็นได้ว่าการที่เศรษฐกิจเติบโตในระดับ 4% นั้น อาจทำให้ประเทศไทยต้องใช้เวลานานถึง 20 ปีที่จะหลุดพ้นจากระดับรายได้ปานกลางไปสู่ระดับรายได้สูง ซึ่งหากเศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้ในอัตราที่สูงกว่านี้ก็น่าจะดีกว่า

"เศรษฐกิจที่โตได้ 4% คือเต็มศักยภาพแล้ว ปีหน้าก็น่าจะโตใกล้เคียงกับเต็มศักยภาพ แต่หากดู benchmark ต่างประเทศ ถามว่าโต 4% ดีไหม คำตอบคือไม่ เพราะต้องใช้เวลาถึง 20 ปี กว่าจะผ่านรายได้ปานกลางไปสู่รายได้สูง หรือเรียกว่าแก่ก่อนรวย ซึ่งมันช้าไปแล้ว ดังนั้นที่ 4% เราน่าจะทำได้ดีกว่านี้" นายเกียรติพงศ์กล่าว

พร้อมมองว่า สิ่งที่จะยกระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ดีขึ้นได้มากกว่าปัจจุบัน คือ ภาคบริการ เช่น การท่องเที่ยว, การแพทย์, การโรงแรม และโลจิสติกส์ ซึ่งถือว่าเป็น sector ที่ค่อนข้างใหญ่และยังไม่ได้เปิดให้มีการแข่งขันกันอย่างเต็มที่ ดังนั้นมีโอกาสที่ sector เหล่านี้จะเติบโตได้หากเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันได้อย่างเต็มที่ อันจะมีส่วนช่วยหนุนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้มากกว่าในระดับปัจจุบัน

"มันมีโอกาสที่จะโตได้มากกว่า หากเปิดให้มีผู้เล่นใหม่ มีการลงทุนใหม่เข้ามา เช่น ใน EEC ที่กำลังทำอยู่ ดังนั้น 4% ก็มีโอกาสจะปรับขึ้นได้มากกว่านี้ แต่ต้องรอติดตามดูด้วยว่า นโยบายรัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้งจะทำได้ต่อเนื่องหรือไม่ แต่ถ้ามองใน 2 ปีที่ผ่านมาก็มีความต่อเนื่องมากขึ้น ทั้งการปฏิรูป การทำนโยบาย การลงทุนภาครัฐ ซึ่งการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ เป็น priority ที่ไทยต้องการมา 10 กว่าปีแล้ว" นายเกียรติพงศ์ระบุ

ส่วนกรณีที่ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% สู่ระดับ 1.75% นั้น นายเกียรติพงศ์ มองว่า การที่ไทยเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยถือว่าช่วยลดความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจได้มากกว่าการที่คงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำเป็นเวลานาน

สำหรับประเด็นสงครามการค้าในปีหน้านั้น มองว่า ผลกระทบกับไทยในแง่ของการค้าถือว่าไม่ได้อยู่ในระดับที่น่ากังวลเมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียน ในขณะที่มาเลเซียจะเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบมากสุด ส่วนไทยได้รับผลกระทบในระดับปานกลาง แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่าจากสงครามการค้า คือผลกระทบที่จะมีต่อจีดีพีของไทย เพราะหากสงครามการค้าส่งผลกระทบต่อจีดีพีของจีนแล้ว จะส่งผลมาถึงเศรษฐกิจไทยด้วย เนื่องจากจีดีพีไทยและจีนมีความเชื่อมโยงกัน

"ถ้าเศรษฐกิจจีนเริ่มชะลอตัว ก็จะส่งผลต่อเศรษฐกิจของไทยและประเทศอื่นๆ ในอาเซียนให้ชะลอตัวตามไปด้วย แต่เท่าที่ดูตอนนี้ผลกระทบ trade war ที่มีต่อจีนก็มีบ้าง แต่ยังไม่กระทบมาถึงจีดีพีของจีน ดังนั้นสิ่งที่ไทยต้องจับตาคือดูจีดีพีของจีน แต่ปัจจุบันยังพอไปได้ ไม่น่าห่วงมาก" นายเกียรติพงศ์ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ