ครม.เห็นชอบการปรับปรุงมาตรการเพิ่มขีดความสามารถให้ SMEs ในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 25, 2018 16:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการปรับปรุงมาตรการเพิ่มขีดความสามารถและส่งเสริมความรู้ให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน สำหรับการดำเนินงานในระยะต่อไป ขณะเดียวกันได้มีมติรับทราบผลการดำเนินงานตามมาตรการเพิ่มขีดความสามารถและส่งเสริมความรู้ให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ในระยะแรก ตามที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เสนอ

โดยก่อนหน้านี้ สสว. ร่วมกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย และธนาคารพาณิชย์ 8 แห่ง ได้ดำเนินโครงการตามมาตรการเพิ่มขีดความสามารถและส่งเสริมความรู้ให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ในระยะแรก โดยจัดการอบรมเสริมสร้างความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และออกคูปองเพื่อซื้อขายเงินตราต่างประเทศสำหรับการทำธุรกรรมซื้อขายเงินต่างประเทศ FX Options วงเงิน 30,000 บาท เป้าหมาย 5,000 ราย

แต่ผลการดำเนินการพบว่ามีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการน้อยกว่าเป้าหมาย ซึ่งเป็นผลจากหลายปัจจัย เช่น ผู้ประกอบการบางส่วนเห็นว่า เงื่อนไขคุณสมบัติที่จะได้วงเงินเข้มงวดเกินไป รวมทั้งวงเงินไม่จูงใจ และผู้ประกอบการบางส่วนไม่จำเป็นต้องป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

"สสว. จึงได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปรับปรุงการดำเนินงานในระยะต่อไป โดยจะขยายการดำเนินโครงการให้ครอบคลุมองค์ความรู้ด้านการเงินในด้านอื่น ๆ และปรับปรุงรายละเอียดโครงการส่งเสริมความรู้ให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน" นายณัฐพรระบุ

โดยรายละเอียดที่มีการปรับปรุงใหม่สำหรับการดำเนินโครงการในระยะต่อไป เป็นดังนี้

1. ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีสิทธิเข้าร่วมโครงการ : ต้องเป็นผู้ประกอบการส่งออก/นำเข้าที่มียอดขายไม่เกิน 400 ล้านบาทต่อปี และเป็นสมาชิกของ สสว. สำหรับผู้เข้าอบรมจะต้องเป็นเจ้าของกิจการ หรือผู้มีอำนาจตัดสินเท่านั้น โดยผู้ประกอบการทุกรายสามารถเข้าอบรมได้ แต่ผู้ที่จะได้รับวงเงินต้องเข้าเงื่อนไขการได้วงเงิน ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการระยะแรกสามารถมีสิทธิ์ใช้วงเงินได้ แต่ต้องเข้ารับการอบรมและทำแบบประเมิน client suitability ใหม่

2. ลักษณะคูปองและเงื่อนไขการใช้ : คูปองออกโดย สสว. ภายใต้วงเงิน 50,000 บาทต่อราย โดยที่คูปองดังกล่าวไม่สามารถซื้อขาย เปลี่ยนมือ แลกเปลี่ยนหรือทอนเป็นเงินสดได้ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ SMEs สามารถใช้คูปองได้กับธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่เข้าร่วมโครงการ และใช้ได้จนกว่าจะครบวงเงินหรือหมดอายุ

3. ค่าใช้จ่ายและแหล่งที่มา : ประมาณการค่าใช้จ่ายสำหรับอุดหนุนคูปองในโครงการ เป็นจำนวน 500 ล้านบาท ซึ่งคำนวณจากวงเงินคูปอง 50,000 บาทต่อราย โดยมีเป้าหมายการดำเนินการในระยะต่อไป 5,000 ราย เป็นค่าคูปอง 250 ล้านบาท และค่าจัดอบรม/ประชาสัมพันธ์ 10 ล้านบาท รวมเป็นวงเงิน 260 ล้านบาท ซึ่งจะดำเนินการภายในเดือนธันวาคม 2562


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ