(เพิ่มเติม) นบข.เดินหน้าโครงการรับประกันข้าวนาปีต่อ มั่นใจที่ผ่านมาประโยชน์ตกถึงมือเกษตรกรแท้จริง, มั่นใจส่งออกปีนี้ตามเป้า

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 27, 2018 16:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (นบข.) ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานว่า ที่ประชุมฯ มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการโครงการรับประกันข้าวนาปีต่อไป เนื่องจากเห็นว่าการดำเนินโครงการที่ผ่านมาถือว่าได้ประโยชน์เพราะทำให้เกษตรกรได้รับประโยชน์

พร้อมทั้งเห็นชอบเรื่องการทำการประชาสัมพันธ์ข้าวไทย สร้างการรับรู้ไปให้ถึงต่างประเทศเป็นระยะเวลา 3 ปี (2563-2565) โดยเน้นเรื่องคุณภาพ เพราะแม้ปี 61 ไทยจะส่งออกข้าวในปริมาณลดลง เพราะส่วนหนึ่งมาจากปัญหาภัยแล้ง แต่ถ้ามาดูในเรื่องราคาแล้ว จะเห็นว่าราคาข้าวของปี 61 ดีกว่าปี 60 เกือบ 10% เป็นผลมาจากซัพพลายที่ลดลง และต่างประเทศยังให้ความเชื่อมั่นคุณภาพข้าวไทย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าถ้าไทยยังรักษามาตรฐานการผลิตนี้ไว้ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวก็จะมีรายได้ที่ดีขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากนี้ ที่ประชุม นบข.ยังเห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหารือเรื่องแผนการระบายข้าวในประเทศด้วย

"ต่อจากนี้ อยากเห็นการทำเรื่องข้าวเน้นที่คุณภาพ เพราะเป็นแนวทางที่ถูกต้อง และสอดรับกับการพิจารณาจัดทำการประชาสัมพันธ์ข้าวไทย เพื่อสร้างการรับรู้ทั้งในประเทศและต่างประเทศว่าการผลิตข้าวของไทยเป็นระบบอย่างมีคุณภาพ" พล.อ.ฉัตรชัยกล่าว

ด้านนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นบข. เห็นชอบโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2562 พื้นที่รับประกันภัย จำนวน 30 ล้านไร่ คุ้มครองภัยธรรมชาติทั้งหมด 7 ภัย ได้แก่ น้ำท่วม ภัยแล้ง ลมพายุ อากาศหนาว ลูกเห็บ ไฟไหม้ และช้างป่า รวมถึงภัยศัตรูพืชหรือโรค อัตราค่าเบี้ยประกันภัย 85 บาทต่อไร่ (ไม่รวมภาษี มูลค่าเพิ่มและอากรแสตมป์) เกษตรกรจ่าย 34 บาทต่อไร่ รัฐบาลอุดหนุน 51 บาทต่อไร่ (พร้อมทั้งภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแสตมป์) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัย 34 บาทต่อไร่ สำหรับเกษตรกรที่เป็นลูกค้าเงินกู้ของ ธ.ก.ส. ที่เพาะปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562 ระยะเวลาโครงการ ทุกภาคยกเว้นภาคใต้ : ตั้งแต่เริ่มฤดูกาลผลิต – 30 มิถุนายน 2562 และภาคใต้ถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2562

งบประมาณสำหรับการดำเนินโครงการฯ สำหรับพื้นที่เอาประกัน 30 ล้านไร่ จำนวนทั้งสิ้น 1,740.6 ล้านบาท โดยให้ ธ.ก.ส. ทดรองจ่ายเงินอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยแทนรัฐบาลและเบิกเงินชดเชยตามจำนวนที่จ่ายจริงรวมกับต้นทุนเงินในอัตรา FDR+1 ในปีงบประมาณถัดไป และมอบหมายกระทรวงการคลังนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

นอกจากนี้ นบข. ยังเห็นชอบการขยายระยะเวลาโครงการข้าวตามนโยบายของรัฐบาล จำนวน 6 โครงการ ดังนี้ (1) โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2551 (2) โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2552 (3) โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 (4) โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2555 (5) โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 (6) โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/57 จาก "สิ้นสุดระยะเวลาโครงการเดือนธันวาคม 2561" เป็น "สิ้นสุดระยะเวลาโครงการเดือนกันยายน 2562" เนื่องจากมีปริมาณข้าวสารที่รับจำนำคงเหลือรอระบายและจ่ายออกจากคลังสินค้า จำนวน 1.904 ล้านตัน (อคส.1.553 ล้านตัน และ อ.ต.ก. 0.351 ล้านตัน)

นายบุณยฤทธิ์ กล่าวว่า นบข. รับทราบสถานการณ์ข้าวไทย ปี 61/62 การเพาะปลูกข้าวรอบที่ 1 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดเป้าหมาย 58.21 ล้านไร่ ผลผลิต 25.34 ล้านตันข้าวเปลือก ขณะนี้ปลูกแล้ว 59.49 ล้านไร่ คิดเป็น 101% ของเป้าหมาย และเก็บเกี่ยวแล้ว 56.14 ล้านไร่ รอบที่ 2 กระทรวงเกษตรฯ กำหนดเป้าหมาย 11.36 ล้านไร่ ผลผลิต 7.57 ล้านตันข้าวเปลือก ขณะนี้ปลูกแล้ว 3.49 ล้านไร่ คิดเป็น 30% ของเป้าหมาย การขึ้นทะเบียนเกษตรกร ปี 61/62 รอบที่ 1 มีการขึ้นทะเบียนแล้ว 4.284 ล้านครัวเรือน คิดเป็น 107% ของเป้าหมาย 4 ล้านครัวเรือน พื้นที่ 58.233 ล้านไร่ รอบที่ 2 มีการขึ้นทะเบียนแล้ว 0.019 ล้านครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 6 ของเป้าหมาย 0.30 ล้านครัวเรือน พื้นที่ 0.411 ล้านไร่ และราคาข้าว ข้าวเหนียวเมล็ดยาวและข้าวปทุมธานี ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเนื่องจากประสบปัญหาภัยแล้งในพื้นที่เพาะปลูกข้าวสำคัญทำให้ผลผลิตข้าวออกสู่ตลาดลดลง ประกอบกับมีความต้องการของตลาดปลายทางอย่างต่อเนื่อง สำหรับข้าวหอมมะลิและข้าวเจ้า 5% ราคาปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน เนื่องจากเป็นช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมากทำให้ราคาปรับตัวลดลง แต่อย่างไรก็ดี การส่งมอบที่มีอยู่อย่างต่อเนื่องทำให้ระดับราคาลดลงไม่มากนัก

ขณะที่การส่งออกข้าวไทย คาดว่าปี 61 จะส่งออกตามเป้า 11 ล้านตัน เนื่องจากอยู่ระหว่างส่งมอบข้าวงวดที่ 7 ให้รัฐบาลจีน 100,000 ตัน ส่งมอบข้าวให้รัฐบาลฟิลิปปินส์ 80,000 ตัน และในรูปแบบรัฐต่อเอกชน 144,000 ตัน และภาคเอกชนสามารถชนะประมูลนำเข้าข้าวของรัฐบาลญี่ปุ่น 33,678 ตัน สำหรับราคาส่งออกข้าว เดือน ธ.ค. ราคาข้าวส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง โดยข้าวหอมมะลิไทยปรับตัวลดลง เนื่องจากข้าวฤดูใหม่ออกสู่ตลาด เวียดนามปรับตัวลง เนื่องจากมีการทยอยระบายข้าวในสต็อก อินเดียข้าวหอมปรับตัวลง เนื่องจากค่าเงินรูปีอ่อนค่า ประกอบกับคำสั่งซื้อชะลอตัว และปากีสถานราคาส่วนใหญ่ทรงตัว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ