คจร.เห็นชอบหลักการผลศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล เตรียมบรรจุในแผนแม่บททางราง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 3, 2019 13:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการของผลการศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย - ลำสาลี (บึงกุ่ม) และมอบ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) บรรจุแผนการพัฒนาโครงการฯ ดังกล่าว ในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

จากผลการศึกษาฯ พบว่า มีความเหมาะสมที่จะพัฒนาทั้งระบบทางด่วน และระบบขนส่งมวลชนบนแนวสายทางเดียวกัน เนื่องจากปัจจุบันขาดโครงข่ายทางที่จะรองรับการเดินทางในด้านทิศตะวันตกกับด้านทิศตะวันออก โดยโครงข่ายระบบทางด่วนตามแนวสายทางนี้เป็นการเชื่อมต่อพื้นที่ระหว่างด้านตะวันตกกับด้านตะวันออกของถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ประกอบกับโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบขนส่งทางราง เนื่องจากรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลมีการเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนทางรางถึง 7 เส้นทางด้วยกัน โดยจะต่อเชื่อมกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีชมพูที่แยกแคราย โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงที่แยกบางเขน โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่แยกเกษตร โครงการรถไฟฟ้าสายสีเทาที่แยกทางต่างระดับศรีรัช และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มและสีเหลืองที่แยกลำสาลี

ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติมอบให้กระทรวงคมนาคมมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และกรมทางหลวง (ทล.) ดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลช่วงแคราย - ลำสาลี (บึงกุ่ม) และโครงข่ายระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอนทดแทน N1, ตอน N2 และ E - W Corridor โดยให้พิจารณาวางแผนร่วมกันให้เกิดผลกระทบระหว่างก่อสร้างต่อประชาชนให้น้อยที่สุด รวมทั้งให้ทำการก่อสร้างฐานรากของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลไปพร้อมกับการก่อสร้างทางพิเศษ ซึ่งรูปแบบของโครงการจะมีช่วงที่มีทั้งโครงการรถไฟฟ้าและทางพิเศษ ใช้พื้นที่เกาะกลางร่วมกันในช่วงที่อยู่บนถนนประเสริฐมนูกิจ มีระยะทางประมาณ 5.7 กม. โดยทางพิเศษจะใช้เสาตอม่อเดิมที่ก่อสร้างไว้แล้วตั้งแต่ปี 2540 และโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลจะมีการก่อสร้างโครงสร้างใหม่ระหว่างเสาตอม่อของทางพิเศษ เพื่อลดผลกระทบด้านค่าก่อสร้าง ปัญหาการจราจรในระหว่างการก่อสร้าง และช่วยให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลก่อสร้างได้เร็วขึ้น

นอกจากนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบรายงานการศึกษาแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่าประเทศไทยมีความเหมาะสมต่อการจัดตั้งโรงประกอบรถไฟขึ้นในประเทศ เนื่องจากมีความพร้อมในปัจจัยที่จะก่อให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตที่สำคัญ คือ มีปริมาณความต้องการรถไฟฟ้ามากเพียงพอที่จะก่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) มีเอกชนเจ้าของเทคโนโลยีสนใจลงทุน และมีผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศที่มีศักยภาพ การจัดตั้งโรงประกอบขึ้นในประเทศ จะทำให้รัฐบาลสามารถซื้อรถไฟได้ในราคาที่ถูกลง นอกจากนี้ ยังก่อให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และเกิดการจ้างงานในประเทศ

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมฯ ตามผลการศึกษาต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ