ไจก้าแนะไทยสร้างแรงจูงใจใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ลดปัญหาจราจรในกทม.-ปริมณฑล ตามแผนแม่บทฯ ระยะที่ 2

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 3, 2019 13:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ได้รับทราบผลการศึกษาการจัดทำทิศทางและนโยบายการพัฒนาแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 (Proposed Blueprint for the Second Mass Rapid Transit Master Plan in Bangkok Metropolitan Region : M-Map 2 Blueprint) โดยกระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ประสานความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่น ผ่านองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ดำเนินการศึกษาแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 (M-MAP 2)

โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อกำหนดทิศทางและแนวทางการพัฒนาแผน M-MAP 2 รวมทั้งปรับปรุงแบบจำลองการเดินทางระดับกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (extended Bangkok Urban Model : eBUM) สำหรับใช้วิเคราะห์และคาดการณ์ปริมาณความต้องการเดินทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ตลอดจนเพื่อจัดทำแผนการดำเนินงานระยะกลางและระยะยาว โดยมีพื้นที่ศึกษาครอบคลุมพื้นที่จังหวัดนครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสงคราม มีวิสัยทัศน์ "มุ่งสร้างสังคมการเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน"

ทั้งนี้ ทิศทางและนโยบายการพัฒนาแผน M-MAP 2 ประกอบด้วย 5 นโยบายหลัก ได้แก่ 1) เพื่อบรรเทาการจราจรติดขัดในพื้นที่ศูนย์กลางเมืองกรุงเทพมหานคร 2) เพื่อส่งเสริมและพัฒนาโครงข่ายรถไฟในภาพรวมในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้มีประสิทธิภาพ 3) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงสถานี 4) เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเปลี่ยนมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ และ 5) เพื่อเพิ่มการเข้าถึงสนามบิน (Global gateways) ซึ่งแผนการดำเนินงาน M-MAP 2 แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย แผนระยะสั้นดำเนินการปี 2561-2565 แผนระยะกลาง ดำเนินการปี 2566-2570 และแผนระยะยาว ดำเนินการปี 2571-2580

ทั้งนี้ JICA ได้ให้ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐในการออกมาตรการจูงใจประชาชน เพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้ระบบการขนส่งทางรางมากขึ้น โดยอ้างอิงประสบการณ์จากที่มีการดำเนินการในประเทศญี่ปุ่น เช่น 1) ส่งเสริมให้ประชาชนเห็นว่าระบบรางเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยให้ใบรับรองแก่บริษัทที่สนับสนุนให้พนักงานใช้ระบบขนส่งสาธารณะ และให้ความรู้ในเรื่องการใช้ระบบขนส่งสาธารณะในโรงเรียน 2) สนับสนุนค่าใช้จ่ายให้พนักงานแต่ละบริษัทเดินทางมาทำงานโดยใช้ระบบขนส่งสาธารณะ และห้ามขับรถยนต์มาทำงานสำหรับพนักงานที่อาศัยอยู่ในรัศมีไม่เกิน 2 กิโลเมตร จากที่ทำงาน

3) ลดค่าโดยสารในช่วงเวลาไม่เร่งด่วน เมื่อใช้บัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ 4) ปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะให้มีความปลอดภัยในการใช้บริการ เช่น การใช้บริการรถไฟฟ้าของเด็กนักเรียน เมื่อเด็กนักเรียนเข้าใช้บริการรถไฟฟ้าด้วยบัตรรถไฟฟ้าระบบจะส่งข้อความผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่แจ้งให้ผู้ปกครองทราบ เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในการใช้บริการ และ 5) กำหนดมาตรการจำกัดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล โดยเพิ่มค่าจอดรถในย่านใจกลางเมือง กำหนดวันปลอดรถยนต์ (Car free day) และเพิ่มอัตราภาษีรถยนต์

นอกจากนี้ ที่ประชุม คจร. ได้ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ในการจัดทำแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยที่ประชุมได้รับทราบผลความก้าวหน้าการดำเนินงานฯ ดังกล่าว ตามข้อสั่งการที่ให้กระทรวงคมนาคมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดจัดทำแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ครอบคลุมถึงการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดผ่านถนนตามแยกต่างๆ ที่มีปัญหาการจราจรติดขัด และการจัดหาพื้นที่จอดรถของประชาชนที่มาใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะต่างๆ

ทั้งนี้ ที่ประชุมมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม โดย สนข. เร่งรัดดำเนินการนำเสนอร่างแผนแม่บทดังกล่าวในการประชุม คจร. ครั้งต่อไป ก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายในกำหนดเวลา

พร้อมกันนี้ ที่ประชุม คจร. มีมติเห็นชอบแผนแม่บทการพัฒนาระบบการจราจรและขนส่งอัจฉริยะ ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (Intelligent Transport System : ITS) โดยมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมขับเคลื่อนแผนแม่บทฯ ไปสู่การปฏิบัติต่อไป ทั้งนี้ มีกรอบแนวคิดโดยมุ่งเน้นให้ประเทศไทยพัฒนาการจราจรและขนส่งให้มีประสิทธิภาพ โดยใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะต่างๆ มาผนวกเข้ากับโครงสร้างพื้นฐาน และยานพาหนะ

ดังนั้นเพื่อให้การพัฒนาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน การพัฒนาระบบ ITS ในเขตพื้นที่เมืองต่างๆ จึงควรนำเทคโนโลยีอัจฉริยะมาผนวกกับโครงสร้างพื้นฐานและยานพาหนะภายในเมือง ซึ่งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลควรพัฒนาให้เป็น Smart Metropolis หรือ นครหลวงอัจฉริยะ ส่วนในระดับเมืองต่างๆ จะนำไปสู่การเป็น Smart City เช่นเดียวกัน ประกอบด้วย 3 เป้าประสงค์หลัก คือ 1) ITS for Green Mobility จากปัญหาการจราจรติดขัด ปัญหามลภาวะภายในเมือง รวมถึงปัญหาการขาดแคลนพื้นที่รองรับปริมาณจราจรเนื่องจากการก่อสร้าง ทำให้นำมาสู่แนวทางการแก้ไขปัญหา คือ การลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล และการส่งเสริมให้ใช้ระบบขนส่งสาธารณะ

2) ITS Integrated Center จากปัญหาในการดำเนินการด้าน ITS ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จึงได้มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาโดยการจัดตั้งหน่วยงานที่เข้ามาบูรณาการในการดำเนินงานภายในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยจากกรอบแผนการพัฒนาระบบ ITS ของประเทศ จะมีการตั้งศูนย์บูรณาการ ITS ภายในแต่ละพื้นที่ เพื่อมุ่งเน้นให้เกิดการบูรณาการข้อมูลด้านจราจรและขนส่ง ควบคุมและจัดการจราจร และตรวจสอบการกระทำผิดกฎจราจร ซึ่งการดำเนินการของศูนย์ฯ จะเป็นหน่วยงานกลางการแก้ไขปัญหาภายในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้อย่างบูรณาการ

3) ITS Assistive Solution เป็นการนำระบบ ITS มาแก้ไขปัญหาด้านคมนาคมขนส่งที่สำคัญในปัจจุบัน ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ