ภาวะตลาดเงินบาท: ปิด 32.08/10 แข็งค่าต่อเนื่อง จับตาปธ.เฟดส่งสัญญาณชะลอขึ้นดอกเบี้ย คาดกรอบต้นสัปดาห์หน้า 32.05-32.10

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 4, 2019 17:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 32.08/10 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าจากช่วง เช้าที่เปิดตลาดที่ระดับ 32.18 บาท/ดอลลาร์

เงินบาทยังเคลื่อนไหวในทิศทางที่แข็งค่าต่อเนื่อง ซึ่งค่ำนี้ตลาดจะจับตาไปที่การแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) โดยเฉพาะในเรื่องการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าประธานเฟดอาจจะส่งสัญญาณว่าในปีนี้จะไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ย หรือขึ้น อย่างน้อยเพียง 1 ครั้งเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเรื่องของการชัตดาวน์หน่วยงานราชการสหรัฐ ที่อาจจะยังยืดเยื้อต่อเนื่อง ซึ่งเป็นตัวกดดันให้ดอลลาร์ สหรัฐอ่อนค่า

นักบริหารเงิน คาดว่า ช่วงต้นสัปดาห์หน้าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 32.05 - 32.10 บาท/ดอลลาร์

  • ปัจจัยสำคัญ
  • ช่วงเย็นเงินเยนอยู่ที่ระดับ 108.03/06 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 107.88 เยน/ดอลลาร์
  • ส่วนเงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.1396/1400 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.1405 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,575.13 จุด เพิ่มขึ้น 15.10 จุด (+0.97%) มูลค่าการซื้อขาย 51,419 ล้านบาท
  • สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติซื้อสุทธิ 571.17 ลบ.(SET+MAI)
  • นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากกระแสข่าวเลื่อนการเลือกตั้ง ส.ส.ออกไปจากเดิมที่คาด
ว่าจะมีขึ้นในวันที่ 24 ก.พ.62 ได้ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เมื่อวานนี้ (3 ม.ค.) ซึ่งแม้กระแส
ข่าวดังกล่าวจะเป็นปัจจัยกระทบต่อการซื้อขายในตลาดหุ้นไทย แต่ก็ยังมีอีกหลายปัจจัยประกอบด้วยเช่นกัน และตามปกติเมื่อหุ้นมีขึ้นก็
ต้องมีลง ดังนั้นจึงไม่น่ากังวล ขณะที่รัฐบาลได้ดูแลสถานการณ์ต่างๆ ของประเทศอย่างต่อเนื่อง
  • ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนธ.ค.61
อยู่ที่ 79.4 จาก 80.5 ในเดือน พ.ย.61 โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 จากความกังวลเรื่อง
สงครามการค้า และกรณีนักท่องเที่ยวจีนลดลง นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยลบจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ขึ้นอัตรา
ดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% และปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 61 และปี 62, ภาคการส่งออกใน
เดือนพ.ย. 61 ลดลง 0.95%, ราคาพืชผลเกษตรทรงตัวในระดับต่ำ
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า การที่ธนาคารพาณิชย์พิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเพียงขาเดียว แม้ว่าสภาพ
คล่องยังคงอยู่ในระดับสูงนั้น เป็นการสะท้อนถึงบทบาทของธนาคารพาณิชย์ในการตอบรับต่อสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
ของไทย ตามมติของการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2561 ที่ผ่านมา ขณะที่หากธนาคาร
อื่นๆ ทยอยขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำตามมาในลักษณะเดียวกัน ก็น่าจะทำให้ส่วนแบ่งตลาดเงินฝากไม่ปรับเปลี่ยนไปจาก
ภาพเดิมมากนัก
  • กระทรวงพาณิชย์จีน ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า คณะผู้แทนของรัฐบาลสหรัฐฯ จะเดินทางเยือนกรุงปักกิ่งในวันที่ 7-8
ม.ค.ที่จะถึงนี้ เพื่อเจรจาการค้ากับเจ้าหน้าที่ของจีน โดยการประชุมระหว่างเจ้าหน้าที่ทั้งสองฝ่าย จะเป็นการเจรจาแบบหน้าต่อ
หน้าครั้งแรกนับตั้งแต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ตกลงที่จะสงบศึกการค้าชั่วคราวเป็นเวลา 90 วัน
เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.61
  • สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ได้อนุมัติร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราวเพื่อยุติภาวะชัตดาวน์แล้ว โดยการอนุมัติงบประมาณ
ดังกล่าว ไม่ได้บรรจุงบประมาณในการสร้างกำแพงกั้นชายแดนสหรัฐฯและเม็กซิโก ตามข้อเรียกร้องของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
  • ไอเอชเอส มาร์กิต เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการขั้นสุดท้ายของยูโร
โซน ปรับตัวลงสู่ระดับ 51.1 ในเดือนธ.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 4 ปี โดยลดลงจากตัวเลขเบื้องต้นที่ 51.3 และลดลง
จากระดับ 52.7 ในเดือนพ.ย. ทั้งนี้ การชะลอตัวดังกล่าว ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกิจกรรมทางธุรกิจที่ลดลงในฝรั่งเศส อันเนื่องมา
จากผลกระทบของการชุมนุมประท้วงกลุ่มเสื้อกั๊กเหลือง
  • รมว.คลังญี่ปุ่น เปิดเผยว่า จะติดตามความเคลื่อนไหวในตลาดเงินอย่างใกล้ชิด หลังจากที่เงินเยนแข็งค่าขึ้นอย่าง
รวดเร็วเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์แตะระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือนเมื่อวานนี้ โดยการซื้อขายเก็งกำไร เป็นปัจจัยที่ทำให้เงินเยนแข็ง
ค่าขึ้นในระหว่างการซื้อขายช่วงสัปดาห์วันหยุด ทั้งนี้ การแข็งค่าของเงินเยนถือเป็นปัญหาของญี่ปุ่นเนื่องจากจะทำให้กลุ่มผู้ส่งออกมี
รายได้จากต่างประเทศน้อยลง และทำให้เงินฝืดมากขึ้น
  • นายกรัฐมนตรีจีน เปิดเผยว่า ทางการจีนจะปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) รวมทั้งปรับลด
ภาษีและค่าธรรมเนียมอื่นๆ หลังจากที่จีนได้ปรับลด RRR ไปแล้ว 4 ครั้งเมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา โดยความเคลื่อนไหวดังกล่าว คาด
ว่ามีขึ้นเพื่อรับมือกับภาวะเศรษฐกิจจีนในปัจจุบันที่ส่งสัญญาณชะลอตัวลง หลังจากที่ได้เติบโตอย่างแข็งแกร่งตลอดหลายปีที่ผ่านมา ขณะ
ที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ทางการจีนจะปรับลด RRR ประมาณ 3-4 ครั้งในปีนี้
  • ผู้ว่าการธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) เรียกร้องให้ผู้นำในภาคการเงิน บริหารจัดการความเสี่ยงอย่างเข้มงวด
มากขึ้นในปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกทั่วโลกชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน
ที่กำลังดำเนินอยู่ รวมถึงการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มปรับนโยบายการเงินสู่ภาวะปกติ และความตื่นตระหนกของภาคการ
เงินในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ เป็นปัญหาใหญ่ที่เศรษฐกิจเกาหลีใต้จะเผชิญในปี 2562

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ