นายกฯ ยินดีอียูปลดใบเหลืองประมง IUU ย้ำประมงไทยจะดีขึ้น พร้อมเดินหน้าสร้างความยั่งยืนระดับภูมิภาค

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 9, 2019 08:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยินดีที่สหภาพยุโรป (อียู) ประกาศปลดใบเหลืองการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) ของไทย ซึ่งถือเป็นเพียงประเทศเดียวที่ได้รับการพิจารณาในครั้งนี้ นับว่าเป็นข่าวดีอย่างมาก

"นายกฯ ขอบคุณอียูที่เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจจริงของประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาการทำประมง IUU นับตั้งแต่ที่ประเทศไทยได้ใบเหลืองเมื่อเดือนเมษายน 2558 ที่สำคัญต้องยกความดีให้ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนี้ ทั้งชาวประมง ผู้ประกอบการ และหน่วยงานภาครัฐ ที่ได้ร่วมมือร่วมใจกันเสียสละ อดทน และทุ่มเทอย่างเต็มที่ เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและปฏิบัติตามหลักสากล"

นายพุทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่าผู้ประกอบการประมงและชาวประมงพื้นบ้านคงเห็นถึงประโยชน์ที่ทุกคนได้ลงแรงกันมา และนับจากนี้สถานการณ์ประมงของไทยจะดีขึ้น ค้าขายได้มากขึ้น เพราะนานาประเทศมีความเชื่อมั่น ส่วนรัฐบาลยืนยันว่าจะยกระดับมาตรฐานการประมงไทยทุกด้านอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ไทยบรรลุการเป็นประเทศปลอดประมง IUU อย่างสมบูรณ์ต่อไป

ด้านพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีและความสำเร็จที่ทุกภาคส่วนได้ร่วมมือกันพยายามแก้ไขปัญหาการทำประมง IUU มาโดยตลอด เนื่องจากตลอดช่วงเวลาเกือบ 4 ปี นับตั้งแต่ไทยได้ใบเหลืองเมื่อเดือนเมษายน 2558 ไทยได้มุ่งมั่นแก้ไขปัญหาการทำประมง IUU จนมีผลเป็นรูปธรรมอย่างครอบคลุมทั้งในด้านกรอบกฎหมาย การบริหารจัดการประมง การบริหารจัดการกองเรือ การติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวัง (MCS) การตรวจสอบย้อนกลับ และการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งทำให้ไทยสามารถแสดงความรับผิดชอบและบทบาททั้งในฐานะรัฐเจ้าของธง รัฐชายฝั่ง รัฐเจ้าของท่าและรัฐตลาด ในระดับของมาตรฐานสากล ส่งผลให้สหภาพยุโรปปลดใบเหลืองให้ไทย ซึ่งสะท้อนความสำเร็จที่ไทยได้ยกระดับของการทำประมงเชิงพาณิชย์ ทั้งในและนอกน่านน้ำเข้าสู่มาตรฐานสากล และพร้อมที่จะเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือกับสหภาพยุโรปในการส่งเสริมการประมงอย่างยั่งยืนทั้งในระดับประเทศและภูมิภาค

หลังจากนี้ไปรัฐบาลไทยก็ยังมีความมุ่งมั่นทางการเมืองที่แน่วแน่และชัดเจน ที่จะขจัดปัญหาการทำประมง IUU เพราะตระหนักดีถึงความจำเป็นที่จะต้องรักษาความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำเพื่ออนุชนรุ่นหลัง มิใช่เฉพาะแต่ของไทยแต่ของโลกโดยรวม ส่งผลให้การแก้ไขปัญหาประมง IUU ได้ถูกกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ และเชื่อมั่นว่าไทยได้วางรากฐานระบบป้องกันการทำประมง IUU ไว้อย่างสมบูรณ์แล้ว ประกอบด้วย 6 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1. ด้านกฎหมาย 2. ด้านการบริหารจัดการประมง 3. ด้านการบริหารจัดการกองเรือ 4 ด้านการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวัง (MCS) 5. ด้านการตรวจสอบย้อนกลับ และ 6. ด้านการบังคับใช้กฎหมาย

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการระยะต่อไปหลังการเจรจาระดับทวิภาคีร่วมกับนายเคอเมนู เวลลา กรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม กิจการทางทะเล และประมง ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันเกี่ยวกับแผนงานความร่วมมือในอนาคตกับสหภาพยุโรปเพื่อให้ไทยบรรลุการเป็นประเทศปลอดประมง IUU ได้โดยสมบูรณ์ต่อไป รวมถึงการส่งเสริมความร่วมมือในระดับภูมิภาคของอาเซียนในการแก้ไขปัญหาการทำประมง IUU ร่วมกันด้วย ประกอบด้วย 3 แผนหลัก ได้แก่ 1. การจัดตั้งคณะทำงานไทย-สหภาพยุโรปเรื่องการต่อต้านการทำประมง IUU โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องให้การมีจัดตั้งคณะทำงานเพื่อเป็นกลไกร่วมมือในการส่งเสริมการประมงอย่างยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง

2. การจัดตั้งคณะทำงานร่วมอาเซียนเพื่อป้องกันและปราบปรามการทำประมง IUU หรือ ASEAN IUU Task Force เนื่องจากประสบการณ์การแก้ไขปัญหาการทำประมง IUU ที่ไทยสั่งสมเกือบตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ไทยพร้อมที่จะร่วมแบ่งปันและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับประเทศอื่น ๆ ที่ประสบปัญหาเดียวกัน โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งในโอกาสที่ไทยเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ จึงมีแนวคิดหลักที่จะส่งเสริมหุ้นส่วนเพื่อความยั่งยืน โดยไทยได้เสนอที่จะผลักดันการจัดทำนโยบายประมงอาเซียน ( ASEAN General Fisheries Policy) ให้มีผลเป็นรูปธรรม รวมถึงการจัดตั้งคณะทำงานร่วมอาเซียนเพื่อป้องกันและปราบปรามการทำประมง IUU (ASEAN IUU Task Force) เพื่อเป็นกลไกการป้องกันการทำประมง IUU ของภูมิภาคด้วย

3. การส่งเสริมการประมงปลอดจากสัตว์น้ำและสินค้าประมงจากการทำประมง IUU หรือ IUU-free Thailand ตามที่ไทยได้จัดตั้งคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการประมงปลอดจากสัตว์น้ำและสินค้าประมงจากการทำประมง IUU และได้เชิญผู้แทนอียูเข้าร่วมประชุม เมื่อเดือนธันวาคม 2561 ซึ่งทางอียูได้มอบหมายให้นายโรแบร์โต เซซารี หัวหน้าฝ่ายนโยบาย IUU ของกระทรวงกิจการทางทะเลและประมง (DG MARE) เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว เพื่อนำเสนอการดำเนินงานด้านการออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำของสหภาพยุโรป ซึ่งจะเป็นหนึ่งในแนวทางที่ไทยจะศึกษาเพื่อใช้ในการพัฒนาแผนงานการออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำของไทย และนำไปสู่ IUU-freeThailand ที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ