คลัง เผยสิ้น ธ.ค.61 นิติบุคคลยื่นขอตั้งพิโกไฟแนนซ์ 875 ราย อนุญาตแล้ว 429 ราย ใน 65 จังหวัด

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 23, 2019 18:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 ที่กระทรวงการคลังเปิดให้ผู้สนใจยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์เป็นต้นมา จนถึง ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2561 มีจำนวนนิติบุคคลยื่นคำขออนุญาตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีจำนวนคำขออนุญาตทั้งสิ้น 875 ราย ใน 73 จังหวัด

โดยจังหวัดที่มีผู้ยื่นคำขออนุญาตมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา 74 ราย กรุงเทพมหานคร 63 ราย ขอนแก่น 50 ราย ทั้งนี้ มีจำนวนนิติบุคคลที่คืนคำขออนุญาตทั้งสิ้น 102 ราย ใน 47 จังหวัด จึงคงเหลือนิติบุคคลที่ยื่นคำขออนุญาตสุทธิเป็นจำนวน 773 ราย ใน 73 จังหวัด และมีจำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจแล้ว 429 รายใน 65 จังหวัด ซึ่งในจำนวนนี้ ได้เปิดดำเนินการแล้วเป็นจำนวน 356 ราย ใน 64 จังหวัด และมีจำนวนผู้ประกอบการที่ปล่อยสินเชื่อแล้ว 349 ราย ใน 63 จังหวัด

นอกจากนี้สืบเนื่องจากที่กระทรวงการคลังได้ออกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องกิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 (เรื่องสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ) (ฉบับที่ 2) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2561 เป็นต้นมา โดยได้ปรับปรุงนิยามของสินเชื่อพิโกแนนซ์ให้รองรับการให้บริการสินเชื่อโดยรับสมุดคู่มือทะเบียนรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์เป็นประกัน หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า "สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ" ในวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 50,000 บาทได้ด้วย สำหรับเงื่อนไขอื่น ๆ ยังคงเป็นไปตามเงื่อนไขทั่วไปของสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ คือต้องเป็นการปล่อยสินเชื่อภายในเขตจังหวัดให้แก่บุคคลธรรมดาผู้มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ภายในจังหวัดนั้น ๆ ในวงเงินรายละไม่เกิน 50,000 บาทคิดดอกเบี้ยในอัตราไม่เกิน 36% ต่อปี (Effective Rate) จึงคาดว่าจะมีผู้ประกอบธุรกิจจำนำทะเบียนรถในระดับท้องถิ่นที่สนใจยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อ พิโกไฟแนนซ์เพิ่มเติมเข้ามาอีกเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ สถิติสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2561 มียอดสินเชื่ออนุมัติสะสมจำนวน 50,740 บัญชี รวมเป็นจำนวนเงิน 1,416.32 ล้านบาท หรือคิดเป็นวงเงินสินเชื่ออนุมัติเฉลี่ยจำนวน 27,913.34 บาทต่อบัญชีประกอบด้วย สินเชื่อแบบมีหลักประกันจำนวน 28,067 บัญชี เป็นจำนวนเงิน 860.74 ล้านบาท หรือคิดเป็น 60.77% ของจำนวนยอดสินเชื่ออนุมัติสะสมและสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกันจำนวน 22,673 บัญชี เป็นจำนวนเงิน 555.58 ล้านบาท หรือคิดเป็น 39.23% ของจำนวนยอดสินเชื่ออนุมัติสะสม ขณะที่ยอดสินเชื่อคงค้างรวมมีจำนวนทั้งสิ้น 19,223 บัญชี คิดเป็นจำนวนเงิน 563.17 ล้านบาท สำหรับสินเชื่อคงค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน มีจำนวน 1,799 บัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงิน 55.93 ล้านบาท หรือคิดเป็น 9.93% ของยอดสินเชื่อคงค้างรวม และมีสินเชื่อคงค้างชำระที่เกินกว่า 3 เดือน (NPL) จำนวน 613 บัญชี คิดเป็นจำนวนเงิน 20.05 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.56% ของยอดสินเชื่อคงค้างรวม

สินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2560 ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้อนุมัติสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินเพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชนในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบแทนหนี้นอกระบบ รายละไม่เกิน 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ย 0.85% ต่อเดือน โดยได้เร่งกระจายความช่วยเหลือด้านสินเชื่อดังกล่าวแก่ประชาชนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2561 มีการอนุมัติสินเชื่อรวม 448,116 ราย เป็นจำนวนเงิน 20,113.91 ล้านบาท จำแนกเป็นสินเชื่อที่อนุมัติแก่ประชาชนทั่วไปจำนวน 412,581 ราย เป็นจำนวนเงิน 18,599.39 ล้านบาท และสินเชื่อที่อนุมัติให้กับผู้มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2560 ที่มีหนี้นอกระบบ จำนวน 35,535 ราย เป็นจำนวนเงิน 1,514.52 ล้านบาท

การดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่กระทำผิดกฎหมายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สนช.) ยังคงกวดขันจับกุมผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบและผู้ติดตามทวงถามหนี้โดยวิธีการผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่องโดยผลการดำเนินการสะสมการจับกุมผู้กระทำผิดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 เป็นต้นมา ถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2561 มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 4,628 คน

อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังยังคงยึดแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของรัฐบาลเพื่อให้การแก้ปัญหามีความยั่งยืนใน 5 มิติ ได้แก่ (1) ดำเนินการจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมาย (2) เพิ่มช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ (3) ลดภาระหนี้นอกระบบโดยการไกล่เกลี่ย (4) เพิ่มศักยภาพลูกหนี้นอกระบบ และ (5) การสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังได้รับความร่วมมือจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ร่วมผลักดันเจ้าหนี้นอกระบบรายใหญ่ที่มีลูกหนี้จำนวนมากเข้าสู่การไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ของคณะอนุกรรมการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้นอกระบบประจำจังหวัดซึ่งมีอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดเป็นประธานตลอดจนร่วมประชาสัมพันธ์เชิญชวนเจ้าหนี้นอกระบบให้หันมาดำเนินธุรกิจสินเชื่อในระบบให้เป็นไปตามกฎหมายด้วยการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ให้มากขึ้นซึ่งจะเป็นแหล่งเงินกู้ทางเลือกที่สำคัญให้กับประชาชนในระดับท้องถิ่น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ