(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย ม.ค. CPI ขยายตัว 0.27% ตามตลาดคาด แต่ชะลอลงจากเดือนก่อนตามราคาพลังงานเป็นหลัก, Core CPI ขยายตัว 0.69%

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 1, 2019 11:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อ ในเดือนม.ค.62 อยู่ที่ 101.71 เพิ่มขึ้น 0.27% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 0.02% จากเดือนธ.ค.61 ซึ่งการชะลอตัวของเงินเฟ้อในเดือน ม.ค.นี้ มีสาเหตุสำคัญจากการลดลงของราคาพลังงานเป็นสำคัญ

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ในเดือนม.ค.62 อยู่ที่ 102.34 เพิ่มขึ้น 0.69% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.04% จากเดือน ธ.ค.61

ขณะที่ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์อยู่ที่ 102.96 เพิ่มขึ้น 1.34% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.33% จากเดือน ธ.ค.61 ส่วนดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม อยู่ที่ 101.01 ลดลง 0.36% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 0.24% จากเดือน ธ.ค.61

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า การชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อในเดือนม.ค.62 มีสาเหตุสำคัญจากการลดลงของราคาพลังงาน ที่ลดลงจาก 1.24% ในเดือนธ.ค.61 มาเป็นลดลง 3.51% ในเดือนนี้ ตามการลดลงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเป็นสำคัญ ขณะที่หมวดอาหารสด สูงขึ้น 1.14% จากราคาข้าวสาร เนื้อสัตว์ และเครื่องประกอบอาหาร ในขณะที่ราคาผลผลิตสินค้าเกษตรบางชนิดลดลงตามปริมาณผลผลิตที่ออกมาในเดือนนี้

นอกจากนี้ การชะลอตัวของเงินเฟ้อในเดือนม.ค. ยังมีสาเหตุมาจากเงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง การชะลอการปรับค่าโดยสารสาธารณะ ในขณะที่ราคาสินค้าและบริการในหมวดอื่น ๆ ยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ ส่งผลให้เงินเฟ้อเดือนนี้ต่ำกว่าที่คาดการณ์

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาปัจจัยอื่นนอกเหนือจากต้นทุนและปริมาณผลผลิตสินค้าแล้ว พบว่าความต้องการของผู้บริโภคยังอยู่ในระดับดี สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมที่อยู่ในระดับเชื่อมั่น เป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี โดยเฉพาะความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต (ระยะ 3 เดือน) ทำให้เงินเฟ้อในระยะต่อไป จะอยู่ในระดับเสถียรภาพที่มีทิศทางเพิ่มขึ้นจากปัจจัยความต้องการ (Demand Pull) ในขณะที่ปัจจัยด้านต้นทุนและผลผลิต (Cost & Supply) ยังเป็นตัวแปรที่ทำให้เงินเฟ้ออาจผันผวนจากการคาดการณ์ได้

"เงินเฟ้อเดือน ม.ค.ที่ 0.27% ถือว่าต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากราคาน้ำมันลงไปเยอะ แต่กระทรวงพาณิชย์ไม่ได้กังวลอะไร เพราะเศรษฐกิจ และการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนยังขยายตัวดีอยู่" น.ส.พิมพ์ชนกระบุ

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อของปีนี้จะอยู่ในกรอบ 0.7-1.7% ซึ่งใกล้เคียงกับในปี 2561 โดยอยู่ภายใต้สมมติฐานว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ปีนี้อยู่ที่ 3.5-4.5% ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีที่ 70-80 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน เฉลี่ยทั้งปีที่ระดับ 32.50-33.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ผู้อำนวยการ สนค. ยังคาดว่า หากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงไม่ปรับตัวลดลงไปมากกว่านี้ อัตราเงินเฟ้อเดือนก.พ.62 มีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งเมื่อเทียบกับฐานที่อยู่ในระดับต่ำของเดือน ก.พ.61 ส่วนสถานการณ์ราคาสินค้าช่วงใกล้เทศกาลตรุษจีนนั้น ในภาพรวมแล้วยังไม่พบการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าสูงขึ้น ยกเว้นสินค้าบางรายการ เช่น เนื้อสุกร ที่มีการปรับราคาสูงขึ้นตามฤดูกาลเท่านั้น

นอกจากนี้ ช่วงของการหาเสียงเลือกตั้งทั่วประเทศ อาจส่งผลให้สินค้าบางประเภทที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง เช่น กระดาษ, ไม้อัด, ค่าเช่ารถและอุปกรณ์เครื่องขยายเสียง จะมีความต้องการจับจ่ายมากขึ้นในระยะ 2 เดือนจากนี้ไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ