เอ็ตด้า เผยอีคอมเมิร์ซไทยโตต่อเนื่อง พร้อมชูบุกตลาดตปท.จากจุดแข็งเมืองท่องเที่ยวเด่น-สินค้าเป็นที่นิยม

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday February 2, 2019 12:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ เอ็ตด้า เปิดเผยว่า ผลการสำรวจมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของไทยพบว่าเติบโตต่อเนื่องปีละ 8-10% และนับว่าเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตของตลาด B2C (Business to Consumer) สูงเป็นอันดับที่ 1 ของอาเซียน เมื่อเทียบมูลค่าระหว่างปี 59 และปี 60 พบว่า มีมูลค่าเพิ่มถึงกว่า 1.6 แสนล้านบาท ส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อมั่นในเทคโนโลยี ระบบ e-Payment ที่สะดวกมากขึ้น การขนส่งที่รวดเร็วทำให้ผู้บริโภคหันมาให้ความนิยมซื้อของออนไลน์อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ หากต้องการจะผลักให้อีคอมเมิร์ซไทยบุกตลาดต่างประเทศก็สามารถทำได้ เพราะเมื่อวิเคราะห์จากจุดแข็งของประเทศไทยที่เป็นเมืองน่าเที่ยวติดอันดับ 4 ของโลก และสินค้าไทยก็เป็นที่ชื่นชอบของหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม ที่ชอบสินค้าอุปโภคบริโภคของไทย เครื่องสำอาง และสินค้าเกี่ยวกับเด็ก อินโดนีเซีย ชอบอาหารทานเล่น (Snack) ของไทยมาก อินเดีย ชอบสินค้าเครื่องปรุงรสอาหารไทย เครื่องสำอาง และจีน ชอบเครื่องสำอาง สมุนไพร เสื้อผ้าและกระเป๋า จุดแข็งของสินค้าไทยสามารถสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซด้วยเอกลักษณ์และจุดเด่นที่ไม่มีใครเหมือน และเพื่อต่อยอดมูลค่าตลาดให้โตยิ่งขึ้น

สำหรับภายในประเทศ เมื่อพิจารณาถึงโอกาสของสินค้าและบริการ จะพบว่าในธุรกิจห้างสรรพสินค้าออนไลน์เติบโต เนื่องจากมีการออกโปรโมชั่นดึงดูดใจลูกค้า มีความน่าเชื่อถือ และความเชื่อมั่นในแหล่งขายที่มีตัวตน ส่วนธุรกิจอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง และอาหารเสริม ก็กำลังเติบโตด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่นิยมอาหารและรักสุขภาพมากขึ้น โดยมีการกระตุ้นความต้องการซื้อผ่านทาง Influencer ตลอดจน Youtuber ซึ่งเติบโตมาตลอดช่วงปีที่ผ่านมา การทำการตลาดทางออนไลน์ในปี 60 สูงถึง 69.92% โดยอันดับแรกที่นิยมมากที่สุดคือ Facebook เพื่อเข้าถึงลูกค้าและตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น

นอกจากนี้ยังได้มีการนำข้อมูล หรือ Big Data มาพัฒนาธุรกิจอีคอมเมิร์ซโดยการนำมาวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อนำเสนอสินค้าใหม่ให้ตรงกับความต้องการ ตลอดจนเพื่อการวางแผนด้านการตลาด และใช้วิเคราะห์ปัจจัยแวดล้อม เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การจำหน่ายสินค้า รวมถึงยังพบว่าปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ถูกนำมาใช้เพื่อการพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการด้วย

ขณะเดียวกันประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุค 5G จำส่งผลทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ที่ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้โดรนขนส่งและตรวจตราความปลอดภัยวิดีโอสตรีมมิ่งและถ่ายทอดสดแบบ 360 องศา โลกเสมือนจริงแบบสามมิติเพื่อการเรียนรู้ สิ่งเหล่านี้จะขับเคลื่อนอีคอมเมิร์ซไทยให้ไปต่อ เพราะสถิติที่ประเทศไทยมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และแนวโน้มว่ามูลค่าอีคอมเมิร์ซของประเทศไทยปี 61 สูงถึง 3.2 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลต่าง ๆ โดยกลุ่มสินค้าที่เป็นที่นิยมอันดับต้น ๆ คือ สินค้าอุปโภคบริโภคของเด็ก เครื่องใช้ไฟฟ้า สมาร์ทโฟน เครื่องสำอาง สกินแคร์ ขณะที่คนไทยเลือกซื้อสินค้าผ่าน Social Commerce มากเป็นอันดับสองรองจากอีมาร์เก็ตเพลสเพราะเป็นแพลตฟอร์มที่ซื้อง่ายขายคล่อง ลดช่องว่าง (Barrier) ระหว่างผู้ซื้อผู้ขาย และเพิ่มอำนาจต่อรองของลูกค้า ทำให้ลูกค้ามีตัวเลือกมากขึ้น

ปัจจัยที่ลูกค้าให้ความสำคัญ คือ ด้านโลจิสติกส์ ซึ่งพัฒนาไปตามความต้องการของลูกค้า มีระบบการติดตาม ตรวจสอบสถานะการส่งที่แม่นยำ ทำให้เกิดความมั่นใจในการสั่งซื้อ ด้านผู้ให้บริการโลจิสติกส์ภาคเอกชนก็มีตัวเลือกหลากหลาย ระบบบริการที่มีการแข่งขันสูงทำให้ผู้รับบริการมีความพึงพอใจ เพราะครอบคลุมพื้นที่ให้บริการมากขึ้น ไม่ได้กระจุกตัวในเมือง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ