พาณิชย์ พอใจ FTA ดันมูลค่าการค้าไทยกับประเทศคู่เจรจาปี 61 โตต่อเนื่อง อาเซียนครองแชมป์ส่วนแบ่งสูงสุด

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 5, 2019 16:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ติดตามสถิติการค้าระหว่างประเทศของไทยกับประเทศที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) ด้วย 12 ฉบับ 17 ประเทศ ตลอดทั้งปี 2561 พบว่า มูลค่าการค้ามีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศคู่เอฟทีเอที่ไทยมีมูลค่าการค้าสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 อาเซียน มีมูลค่าการค้า 113.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนกว่า 13% โดยสินค้าส่งออกหลักของไทย เช่น รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรกล เป็นต้น สินค้านำเข้าหลักของไทย เช่น น้ำมันดิบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้า และก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น

อันดับ 2 จีน มีมูลค่าการค้า 80.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8.7% สินค้าส่งออกหลักของไทย เช่น เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง เคมีภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และยางพารา เป็นต้น สินค้านำเข้าหลักของไทย เช่น เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เคมีภัณฑ์ และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ

อันดับ 3 ญี่ปุ่น มีมูลค่าการค้า 60.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 11.2% สินค้าส่งออกหลักของไทย เช่น รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เม็ดพลาสติก เครื่องจักรกล เครื่องโทรสาร และโทรศัพท์ เป็นต้น สินค้านำเข้าหลักของไทย เช่น เครื่องจักรกล เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องจักรไฟฟ้า และเคมีภัณฑ์

อันดับ 4 ออสเตรเลีย มีมูลค่าการค้า 16.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 12% สินค้าส่งออกสำคัญของไทย เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก อาหารทะเลกระป๋อง และผลิตภัณฑ์ยาง สินค้านำเข้าหลักของไทย เช่น เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ น้ำมันดิบ สินแร่โลหะ ถ่านหิน และพืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เป็นต้น

อันดับ 5 เกาหลี มีมูลค่าการค้า 13.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8.8% สินค้าส่งออกของไทย เช่น ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เครื่องคอมพิวเตอร์ แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม และเคมีภัณฑ์ สินค้านำเข้าหลักของไทย เช่น เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องจักรไฟฟ้า และสินแร่โลหะ เป็นต้น

นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA ในปี 2561 ช่วง 11 เดือน (มกราคม-พฤศจิกายน) พบว่า ไทยใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอในการส่งออก เป็นมูลค่าที่ใช้สิทธิสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ (1) อาเซียน มูลค่า 24.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 36.2% ของมูลค่าการส่งออกไปอาเซียน (2) จีน มูลค่า 16.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 53.7% ของมูลค่าการส่งออกไปจีน (3) ออสเตรเลีย มูลค่า 8.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 79.5% ของมูลค่าการส่งออกไปออสเตรเลีย (4) ญี่ปุ่น มูลค่า 7.0 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 28.2% ของมูลค่าการส่งออกไปญี่ปุ่น และ (5) อินเดีย มูลค่า 4.0 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 53.9% ของมูลค่าการส่งออกไปอินเดีย

ขณะที่ไทยใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA ในการนำเข้าเป็นมูลค่าที่ใช้สิทธิสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ (1) จีน มูลค่า 12.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 26.6% ของการนำเข้าจากจีน (2) อาเซียน มูลค่า 8.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 20.3% ของการนำเข้าจากอาเซียน (3) ญี่ปุ่น มูลค่า 7.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 23.4% ของการนำเข้าจากญี่ปุ่น (4) เกาหลีใต้ มูลค่า 2.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 27.4% ของการนำเข้าจากเกาหลีใต้ และ (5) ออสเตรเลีย มูลค่า 0.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 11.9% ของการนำเข้าจากออสเตรเลีย

อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า อาเซียนยังคงครองตำแหน่งประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยด้วยสัดส่วนการค้ามากถึง 22.7% นอกจากนี้ ในปี 2562 นี้ ที่ไทยเป็นประธานอาเซียน ได้มีการนำเสนอประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการของไทย เช่น การเชื่อมโยงเอกสารใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าอาเซียนทางอิเล็กทรอนิกส์ การเร่งอำนวยความสะดวกผู้ประกอบการ เช่น การจัดทำฐานข้อมูลกฎระเบียบการค้าของอาเซียน ทั้งอัตราภาษีและมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี การเตรียมบุคลากรรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล และการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ