(เพิ่มเติม1) ม.หอการค้าฯ เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ม.ค.อยู่ที่ 80.7 ปรับตัวดีขึ้นในรอบ 5 เดือน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 6, 2019 13:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ในเดือน ม.ค.62 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค อยู่ที่ 80.7 จาก 79.4 ในเดือน ธ.ค.61 โดยดัชนีปรับตัวดีขึ้นในรอบ 5 เดือน เป็นผลจากความชัดเจนในการจัดการเลือก 24 มีนาคม 2562

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 67.7 จาก 66.3 ในเดือนก่อนหน้า ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 75.8 จาก 74.6 ในเดือนก่อนหน้า และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 98.7 จาก 97.3 ในเดือนก่อนหน้า

สำหรับปัจจัยที่มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ได้แก่ การประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ.2562 และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เป็นการทั่วไปในวันที่ 24 มี.ค.62

ขณะที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 61 จะขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ 4.1% เร่งขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัว 3.9% โดยได้รับแรงขับเคลื่อนหลักมาจากการใช้จ่ายภาคเอกชนทั้งด้านการบริโภคและการลงทุนที่มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้น และยังคาดว่าเศษฐกิจปี 62 มีแนวโน้มขยายตัว 4.0% จากช่วงคาดการณ์ที่ 3.5-4.5% โดยได้รับแรงส่งจากโครงการลงทุนของภาครัฐที่จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ตามกรอบงบประมาณรายจ่ายลงทุนภาครัฐประจำปีงบประมาณ 62 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและโครงการลงทุน PPP ในโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งผลจากความชัดเจนเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง

ด้านปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนเริ่มคลี่คลายลงหลังจากที่สหรัฐฯ และจีนได้มีการเจรจาการค้ากัน 2 ครั้ง หลังจากได้ยุติสงครามการค้าเป็นการชั่วคราว 90 วัน รวมทั้งนักท่องเที่ยวจีนเริ่มกลับเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้นหลังจากประเทศไทยยกเว้นค่าธรรมเนียม VISA on Arrival

ส่วนพืชผลทางการเกษตรบางรายการเริ่มปรับตัวดีขึ้นโดยเฉพาะข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และสินค้าปศุสัตว์ทำให้เกษตรกรบางกลุ่มเริ่มมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยในหลายจังหวัดที่ราคาสินค้าเกษตรเริ่มปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม เกษตรกรส่วนใหญ่ยังเห็นว่าราคาสินค้าเกษตรยังอยู่ในระดับต่ำ

SET Index ในเดือน ม.ค.62 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 77.85 จุด โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 1,563.88 จุด ณ สิ้นเดือน ธ.ค.61 เป็น 1,641.73 จุด เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 32.701 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นเดือน ธ.ค.61 เป็น 31.814 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นเดือน ม.ค.62 สะท้อนว่ามีเงินทุนจากต่างประเทศสุทธิไหลเข้ามายังประเทศไทย

สำหรับปัจจัยลบ ได้แก่ การส่งออกของไทยในเดือน ธ.ค.61 มีมูลค่า 19,381.35 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 1.72% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 18,316.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.15% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 1,064.91 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ในช่วงตลอดทั้งปี 61 ส่งออกรวม 252,486.41 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.70% และมีการนำเข้ารวม 249,231.93 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 12.51% ส่งผลให้เกินดุลการค้ารวม 3,254.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยราคาน้ำมันขายปลีกแก๊สโซฮอล์ ออกเทน 91 (E10) และแก๊สโซฮอล์ 95 (E10) ปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 0.60 บาทต่อลิตร จากระดับ 25.48 และ 25.75 บาทต่อลิตร ณ สิ้นเดือน ธ.ค.61 ตามลำดับ มาอยู่ที่ระดับ 26.08 และ 26.35 บาทต่อลิตร ณ สิ้นเดือน ม.ค.62 ตามลำดับ สำหรับราคาน้ำมันดีเซลในประเทศ มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกันประมาณ 0.90 บาทต่อลิตร จากระดับ 24.79 บาทต่อลิตร มาอยู่ที่ระดับ 25.69 บาทต่อลิตร

ความกังวลต่อสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในเขตพื้นที่ กทม.และปริมณฑลที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน ราคาพืชผลทางการเกษตรส่วนใหญ่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะยางพารา มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน ส่งผลให้รายได้เกษตรส่วนใหญ่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ทำให้กำลังซื้อทั่วไปในต่างจังหวัดขยายตัวไม่มากนัก

ความกังวลเกี่ยวกับปัญหาสงครามการค้าในระดับโลกโดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ซึ่งอาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในอนาคต แม้ว่าสหรัฐฯ กับจีนจะอยู่ในช่วงเจรจายุติปัญหาสงครามการค้า ขณะที่ผู้บริโภคมีความรู้สึกว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าและยังกระจุกตัว และผู้บริโภคยังมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง รวมถึงผู้บริโภคยังรู้สึกว่ารายได้ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นในรอบ 5 เดือน เป็นผลจากความชัดเจนในการจัดการเลือกตั้งทำให้บรรยากาศที่คึกคักกำลังกลับมา ทำให้ผู้บริโภคเชื่อว่าระบบเศรษฐกิจน่าจะพลิกฟื้นได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งทางหอการค้าประเมินว่าพรรคการเมืองต่างๆ จะการใช้จ่ายในช่วงรณรวงค์หาเสียงราว 3-5 หมื่นล้านบาท รวมถึงหลังการเลือกตั้งหากได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพก็จะส่งผลดีต่อโมเมนตัมเศรษฐกิจให้ค่อยๆฟื้นตัวขึ้นได้

นอกจากนั้น ความเชื่อมั่นที่ดีขึ้นยังมาจากนักท่องเที่ยวจีนกลับมาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น หลังจากรัฐบาลมีมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียม Visa on Arrival ส่งผลให้หลังปีใหม่นักท่องเที่ยวเริ่มกลับมาเข้ามา และเข้ามามากขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีน

ส่วนการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่จะมีขึ้นอีกครั้งในเดือน ก.พ.62 เชื่อว่าจะทำให้สถานการณ์ไม่เลวร้ายลง เพราะสหรัฐคงจะไม่เก็บกำแพงภาษีเพิ่มเติมจากจีนในวงเงิน 2 แสนล้านบาทตามกำหนดในเดือน มี.ค.และต้องติดตามว่าทางสหรัฐกับจีนจะมีการลดหย่อนภาษีในสินค้าบางรายการด้วยหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยลบที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค คือ การแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ (Brexit) ซึ่งต้องติดตามว่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจยุโรปมากน้อยเพียงใด รวมถึงเศรษฐกิจเยอรมนีชะลอตัวลง เป็นผลจากสหรัฐตั้งกำแพงภาษีกับบริษัทรถยนต์ของเยอรมนี รวมถึงราคาพืชผลทางการเกษตรยังทรงตัวต่ำเมื่อเทียบกับช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา ทำให้กำลังซื้อภาคการเกษตรยังไม่ฟื้นตัว จึงส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมยังไม่ดีในสายตาของผู้บริโภค

"เรามีมุมมองว่า บรรยากาศเงินในกระเป๋ามันคลายตัวขึ้น ดัชนีเดือนนี้ต่ำกว่า 100 ทุกรายการ แสดงว่าเศรษฐกิจยังไม่เป็นปกติ ความคึกคักทางเศรษฐกิจยังไม่เกิดขึ้น การที่เศรษฐกิจยังโตแบบกระจุกยังคงเกิดขึ้น...แต่เราเชื่อว่า ความเชื่อมั่นผู้บริโภคน่าจะค่อยดีๆขึ้นตามลำดับในมุมมองของหอการค้าไทย เพราะนับจากวินาทีนี้ ประชาชนจะเริ่มเห็นความคึกคักในการรณรงค์หาเสียง เม็ดเงินจะสะพัด มีการจ้างงาน มีการจับจ่ายใช้สอยโดยผ่านการรณรงค์หาเสียงมากขึ้นเรื่อยๆ เราเชื่อว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 1-2 จะค่อยๆฟื้นตัวขึ้น และ ถ้าทุกอย่างคลายตัว ไม่ว่าจะเป็น Brexit หรือ trade war และมีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ เศรษฐกิจไทยน่าจะโดดเด่นขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง"นายธนวรรธน์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ