นบข.รับทราบสถานการณ์ข้าวไทย คาดปี 62 ส่งออกได้ 9.5 ล้านตัน ลดลง 14% จากปี 61 แต่ราคาขยับขึ้น เหตุบาทแข็ง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 11, 2019 14:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 2/2562 ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานว่า ที่ประชุมรับทราบแนวโน้มสถานการณ์ตลาดข้าวไทย ปี 62 สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยคาดว่าไทยจะส่งออกข้าวได้ 9.5 ล้านตัน ลดลง 14% จากปี 61 เนื่องจากเงินบาทแข็งค่า ทำให้ข้าวไทยราคาสูงกว่าคู่แข่ง และจีนมีสต็อกข้าวมาก ระบายออกมาอย่างต่อเนื่องและบางส่วนส่งออกไปแอฟริกา ส่งผลกระทบต่อตลาดข้าวไทยในแอฟริกา นอกจากนี้อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซียมีแนวโน้มลดปริมาณการนำเข้า ปัจจัยบวก คือ อินเดีย ซึ่งเป็นคู่แข่งรายใหญ่ มีนโยบายรับซื้อข้าวในประเทศเพื่อเก็บสต็อก ส่งผลให้มีข้าวออกสู่ตลาดน้อยลง รวมทั้งการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) กับรัฐบาลจีนที่ยังต้องทยอยส่งมอบ นอกจากนี้ ปรากฏการณ์เอลนิโญ่อาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าวของประเทศผู้ผลิตข้าวรายสำคัญอย่างจีนและอินเดีย

โดยในช่วงวันที่ 1-29 ม.ค.62 ไทยส่งออกอันดับ 1 ของโลก ประมาณ 724,000 ตัน รองลงมา ได้แก่ อินเดีย 721,000 ตัน ปากีสถาน 397,000 ตัน เวียดนาม 252,000 ตัน และสหรัฐฯ 207,000 ตัน ภาพรวมการค้าข้าวโลกค่อนข้างซบเซา โดยไทยส่งออกลดลงเนื่องจากการแข็งค่าของเงินบาททำให้ผู้ซื้อชะลอการสั่งซื้อลง ส่วนอินเดียส่งออกลดลงเนื่องจากความต้องการจากประเทศคู่ค้าลดลง ขณะที่เวียดนามส่งออกลดลง เนื่องจากจีน ฟิลิปปินส์นำเข้าน้อยลง อีกทั้งจีนยังกำหนดมาตรการนำเข้าข้าวที่เข้มงวด

ขณะที่ราคาข้าวไทยเทียบกับประเทศผู้ส่งออกสำคัญ เดือนม.ค.62 ราคาส่งออกข้าวไทยเกือบทุกชนิดปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากเงินบาทแข็งค่าขึ้นและปริมาณข้าวหอมมะลิมีจำกัด ส่วนเวียดนาม ราคาส่งออกลดลงเนื่องจากข้าวฤดูใหม่ออกสู่ตลาดรวมทั้งความต้องการข้าวจากจีนลดลง และปากีสถานราคาส่งออกข้าวปรับตัวลดลงเนื่องจากอุปสงค์จากประเทศคู่ค้าชะลอตัว สำหรับอินเดีย ราคาส่งออกข้าวค่อนข้างทรงตัว

พร้อมกันนี้ นบข. เห็นชอบเพิ่มงบประมาณช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2561/62 ตามที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เสนอ จำนวน 5,068.73 ล้านบาท ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ เดิมทีได้มีการคำนวณว่าเกษตรกรที่จะมาขึ้นทะเบียนจะมีประมาณ 4 ล้านครัวเรือน ซึ่งเมื่อนับถึงวันที่ 28 มกราคม 2562 ปรากฏว่ามีเกษตรกรมาขึ้นทะเบียนทั้งหมด 4.29 ล้านครัวเรือน ทำให้งบประมาณที่คำนวณไว้มีไม่เพียงพอ ธ.ก.ส. จึงขอเพิ่มกรอบวงเงินงบประมาณซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นราว 5,000 ล้านบาท แต่ทั้งหมดนี้เป็นกรอบวงเงิน อาจจะไม่ใช่ตัวเลขนี้ ซึ่งจะมีการทำตัวเลขอีกครั้ง

นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินงานมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าวช่วงผลผลิตออกสู่ตลาด จำนวน 4 โครงการ ประกอบด้วย 1. โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีและการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2561/62 ของ ธ.ก.ส. 1.1 โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก ณ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2562 เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 136,344 ราย ปริมาณข้าว 768,325.60 ล้านตัน จำนวนเงิน 8,544.63 ล้านบาท หรือคิดเป็น 38.42% ของเป้าหมาย 2 ล้านตัน 1.2 การช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ธ.ก.ส. ทยอยจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรแล้ว 4.082 ล้านราย จำนวนเงิน 56,208.18 ล้านบาท จากเป้าหมาย 4.057 ล้านราย วงเงิน 56,474.02 ล้านบาท หรือคิดเป็น 99.53% ของเป้าหมาย

2. โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2561/62 ธ.ก.ส. จ่ายเงินสินเชื่อให้แก่สถาบันเกษตรกรแล้ว 264 ราย สินเชื่อ 9,282.28 ล้านบาท ปริมาณข้าวเปลือก 1.031 ล้านตัน หรือคิดเป็น 51.55% ของเป้าหมาย 2 ล้านตัน

3. โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้แก่ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก 3.1 ผลการดำเนินการ ปีการผลิต 2561/62 ผู้เข้าร่วมโครงการรับซื้อข้าวเปลือกจำนวน 194 ราย เก็บสต็อกสูงสุด รวมเป็นข้าวเปลือกรับซื้อจากเกษตรกรเพื่อเก็บสต็อกทั้งสิ้นประมาณ 2.956 ล้านตัน หรือคิดเป็น 59.12% ของเป้าหมาย 5 ล้านตัน มูลค่าการตรวจสอบสต็อกสูงสุด จำนวน 40,412.02 ล้านบาท

4. โครงการสินเชื่อเพื่อสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ธ.ก.ส. ทยอยจ่ายเงินสินเชื่อให้แก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร 4,847 ราย สินเชื่อ 528.83 ล้านบาท หรือคิดเป็น 48.47% ของเป้าหมาย 10,000 ราย

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงสต็อกข้าวของรัฐบาลในปัจจุบันว่าคงเหลืออยู่น้อยแล้ว และยังมีเรื่องที่มีคดีความอยู่ ทำให้ไม่สามารถนำข้าวมาจำหน่ายได้อีกมาก ซึ่งกำลังสรุปตัวเลขกันอยู่ ที่เคยมีประเด็นว่ายังมีส่วนต่าง มีอะไร ที่คนไปบอกข้าวหาย ๆ นั้น ที่จริงแล้วข้าวไม่ได้หาย ไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่มีหลายเรื่องมีหลายสาเหตุ เช่น มีข้าวติดคดีส่วนหนึ่ง และมีส่วนหนึ่งที่เป็นข้าวตั้งแต่โครงการสมัยรัฐบาลชุดก่อนที่ไปทำข้าวถุง ส่งไปโรงงานทำข้าวถุงแล้วไม่ได้คืนมา รวมทั้งมีข้าวกองล้ม จึงตรวจไม่ได้ แต่มีอยู่ในบัญชี ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้เร่งรัดให้ดำเนินการทางคดี โดยทุกอย่างต้องจบก่อนสิ้นสุดอายุความของแต่ละคดี ที่รวมแล้วมีอยู่เป็น 100 คดีให้ได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ