ม.หอการค้าไทย เผยผลกระทบปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ช่วง 2 เดือนในกทม.-ปริมณฑล กว่า 6 พันลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 13, 2019 11:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นจากวิกฤติปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 โดยเมื่อถามว่าปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้ชีวิตในปัจจุบันมากน้อยเพียงใดนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ 72.2% ตอบว่ามาก รองลงมา ประชาชน 26.4% ตอบว่าปานกลาง ขณะที่อีก 0.9% ตอบว่าน้อย และมีเพียง 0.5% ที่ตอบว่าไม่มีผลเลย

สำหรับแนวทางการปรับตัวจากปัญหาดังกล่าว อันดับแรก ระบุว่า หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง และสถานที่ที่มีฝุ่นเยอะ อันดับสอง ระบุว่า ใส่หน้ากากตลอดเวลาออกนอกบ้าน/สถานที่ทำงาน อันดับสาม ระบุว่า ทำความสะอาดที่อยู่อาศัยมากขึ้น และอันดับสี่ ระบุว่า งดสูบบุหรี่

ส่วนระดับผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อการดำเนินชีวิตในปัจจุบันต่อตัวเองและคนใกล้ตัว (จากคะแนนเต็ม 10) แบ่งเป็น

  • ด้านสุขภาพ ระดับผลกระทบต่อตัวเอง 9.27 คะแนน และต่อคนใกล้ตัว 8.95 คะแนน
  • ความวิตกกังวล/ความเครียด ระดับผลกระทบต่อตัวเอง 8.95 คะแนน และต่อคนใกล้ตัว 8.55 คะแนน
  • การเจ็บไข้ได้ป่วย ระดับผลกระทบต่อตัวเอง 8.56 คะแนน และต่อคนใกล้ตัว 8.88 คะแนน
  • ความไม่ปลอดภัยจากการเดินทางออกนอกบ้าน ระดับผลกระทบต่อตัวเอง 8.20 คะแนน และต่อคนใกล้ตัว 8.15 คะแนน

ทั้งนี้ จากความวิตกกังวลปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 พบว่า ประชาชนมีความกังวลสูงสุดอันดับแรก ในเรื่องสุขภาพ 8.04 คะแนน อันดับ 2 เกิดความวิตกกังวล/ความเครียด 7.75 คะแนน อันดับ 3 การเจ็บไข้ได้ป่วย 7.66 คะแนน อันดับ 4 ความไม่ปลอดภัยจากการเดินทางออกนอกบ้าน 7.54 คะแนน อันดับ 5 การท่องเที่ยว 7.37 คะแนน และอันดับ 6 เศรษฐกิจโดยรวม 7.57 คะแนน

เมื่อถามถึงค่าใช้จ่ายจากวิกฤตปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 พบว่าประชาชนส่วนใหญ่คาดว่าจะยังคงมีปัญหาฝุ่นละอองต่อเนื่องไปอีก 6 เดือน ส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเพิ่มขึ้นต่อเดือนคนละ 802 บาท หรือคิดเป็นค่าใช้จ่าย 6 เดือนรวม 4,812 บาท/คน

สำหรับมาตรการที่ต้องการให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วน เช่น ทำฝนเทียมเพื่อชะล้างฝุ่นอย่างต่อเนื่อง, ฉีดพ่นละอองน้ำเพื่อลดฝุ่นละอองผ่านในอากาศ, รณรงค์ให้ทุกคนใช้รถโดยสารสาธารณะแทนการใช้รถยนต์ส่วนตัว, เข้มงวดโรงงานที่ปล่อยมลพิษสู่อากาศ, รณรงค์และควบคุมการเผาขยะที่ก่อให้เกิดฝุ่นควันและเป็นมลพิษ, รณรงค์การหยุดใช้รถที่ปล่อยควันดำ และมีอายุมากกว่า 10 ปี, ฉีดล้างทำความสะอาดถนนทุกพื้นที่ และบริเวณหน้าบ้านพักอาศัย, รณรงค์การไม่สูบบุหรี่ในที่สาธารณะ และแจกหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากป้องกันฝุ่น PM2.5 ให้แก่ผู้ที่มีรายได้น้อย

ทั้งนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยใช้สมมติฐานกรณีว่าจะเกิดขึ้นประมาณ 2 เดือน พบว่ามีมูลค่าผลกระทบประมาณ 6,100 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.ภาระค่าใช้จ่ายในการซื้อหน้ากากอนามัย 600 ล้านบาท โดยคิดจาก 25% ของประชากรในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล (3 ล้านคน จากทั้งหมด 15 ล้านคน) จะต้องเสียเงินซื้อหน้ากากอนามัย ราคาเฉลี่ยอันละ 20 บาท 4 อัน/เดือน

2. ภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ และระบบทางเดินหายใจ 800 ล้านบาท โดยคิดจาก 40% ของผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ และระบบทางเดินหายใจในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล (8 แสนคน จากทั้งหมด 2 ล้านคน) ต้องเข้าโรงพยาบาลอย่างน้อย 1 ครั้ง และเสียค่ารักษาเฉลี่ย 1,000 บาท/ครั้ง

3. การสูญเสียเงินตราต่างประเทศ 240 ล้านบาท โดยคิดจากหน้ากากอนามัยประมาณ 40% (โดยเฉพาะรุ่น N95) จำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ

4. การสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยว 4,062 ล้านบาท โดยคิดจาก 2.5% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ราว 162,500 คน/เดือน จากทั้งหมด 6.5 ล้านคน/เดือน มีการใช้จ่ายเฉลี่ย 12,500 บาท/คน ที่ได้เลี่ยงการเดินทางมาในพื้นที่

5. การสูญเสียงบประมาณของรัฐ 400 ล้านบาท โดยคิดจากสมมติฐานว่าปัญหาฝุ่น PM 2.5 จะเกิดขึ้น 2 เดือน ซึ่งจะมีการใช้งบประมาณ 200 ล้านบาท/เดือน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ