รมว.พลังงาน คาดประกาศเชิญชวนผู้ประกอบการยื่นข้อเสนอรับสิทธิสำรวจ-ผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยรอบใหม่ มิ.ย.นี้

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 25, 2019 13:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานเตรียมเปิดประมูลสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยรอบใหม่ ภายในเดือนมิ.ย.นี้ หลังจากที่ประสบความสำเร็จกับการประมูลแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณและบงกชเมื่อปีที่ผ่านมา โดยรูปแบบการเปิดให้ผู้ประกอบการยื่นข้อเสนอรับสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยครั้งใหม่นี้ จะอยู่ในรูปแบบของระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) ทั้งหมด และน่าจะใช้เกณฑ์เดียวกันเหมือนการประมูลแหล่งบงกชและเอราวัณ รวมถึงการกำหนดให้ภาครัฐถือหุ้น 25% ในแหล่งปิโตรเลียมด้วย

"ขณะนี้มอบหมายให้กรมเชื้อเพลิงฯพิจารณาแปลงต่างๆ ในอ่าวไทย เพื่อเปิดประมูลให้มีการผลิตก๊าซธรรมชาติ ซึ่งขณะนี้เรามีฐานราคาก๊าซฯที่ต่ำ ภายในเดือนมิถุนายนนี้ น่าจะมีประกาศเชิญชวนผู้ประกอบการยี่นข้อเสนอเพื่อรับสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย ซึ่งจะเป็นในรูปแบบของ PSC ทั้งหมด"นายศิริ กล่าว

วันนี้ รมว.พลังงาน ได้ลงนามสัญญาแบ่งปันผลผลิตสำหรับแปลงสำรวจปิโตรเลียมในอ่าวไทยหมายเลข G1/61 (แหล่งเอราวัณ) กับ บริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ในกลุ่ม บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ร่วมกับ บริษัท เอ็มพี จี2 (ประเทศไทย) จำกัด ในกลุ่มบริษัท มูบาดาลา จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ที่ถือสัดส่วน 60:40 ตามลำดับ และ สัญญาแบ่งปันผลผลิตสำหรับแปลงสำรวจปิโตรเลียมในอ่าวไทยหมายเลข G2/61 (แหล่งบงกช) กับ บริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ที่ถือสัดส่วน 100%

ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแหล่งบงกช และเอราวัณ มีข้อผูกพันที่จะต้องมีปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติขั้นต่ำสำหรับ 10 ปีแรกของระยะเวลาการผลิต ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน สำหรับแหล่งเอราวัณ และ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน สำหรับแหล่งบงกช จากปัจจุบันที่มีการผลิตก๊าซนสำหรับแหล่งเอราวัณ 1,240 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และแหล่งบงกช 900 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน

สำหรับแปลงผลิตปิโตรเลียมบงกชและเอราวัณ จะหมดสัญญาสัมปทานในปี 65-66 กระทรวงพลังงานจึงได้เปิดประมูลเพื่อให้มีการผลิตปิโตรเลียมมีความต่อเนื่อง โดยแหล่งบงกชและเอราวัณ มีปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติรวมกันคิดเป็น 60% ของปริมาณการผลิตก๊าซฯของประเทศ

นายศิริ กล่าวอีกว่า การเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมบงกชและเอราวัณในครั้งที่ผ่านมา สามารถประมูลได้ราคาค่าคงที่สำหรับราคาก๊าซฯที่ 116 บาท/ล้านบีทียู ทำให้มีส่วนลดราคาก๊าซฯราว 5.5 แสนล้านบาท ตลอด 10 ปี ซึ่งส่วนลดราคาก๊าซฯดังกล่าวจะส่งต่อไปยังผู้บริโภคทั้งหมด แบ่งเป็น ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้มีเงินส่วนลดเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับ LPG เพื่อสร้างเสถียรภาพราคา LPG ได้ราว 1 บาท/กิโลกรัม , ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) วงเงิน 1 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้ราคา NGV ลดลงราว 0.50-1.00 บาท/กิโลกรัม และปิโตรเคมี วงเงิน 1 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีมีต้นทุนที่แข่งขันได้

สำหรับวงเงินอีก 2 แสนล้านบาท จะเป็นส่วนลดสำหรับราคาค่าไฟฟ้า คาดว่าจะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงราว 15-20 สตางค์/หน่วย จากเดิมที่ 3.6 บาท/หน่วย มาอยู่ที่ 3.4 บาท/หน่วย อีกทั้งผลจากการที่มีการผลิตก๊าซฯในปริมาณที่มากพอที่จะเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศในราคาที่ไม่แพงได้เป็นพื้นฐานในการเพิ่มสัดส่วนการใช้ก๊าซฯในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ ปี 2561-2580 (PDP 2018) จาก 30% เป็น 53% ของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า

"การลงนามสัญญาแบ่งปันผลผลิตระหว่างกระทรวงพลังงานกับผู้ที่ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตสำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยทั้ง 2 แปลงวันนี้ จะสามารถเป็นหลักประกันว่าประเทศไทยและประชาชนจะมีก๊าซฯจากแหล่งปิโตรเลียมในประเทศใช้อย่างต่อเนื่องในราคาที่ไม่แพง รวมทั้งจะสามารถสร้างเสถียรภาพด้านพลังงาน เพื่อเป็นฐานในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศให้แข็งแกร่งต่อไป"นายศิริ กล่าว

นายศิริ กล่าวว่า หลังจากนี้ภายใน 45 วันกลุ่มผู้ได้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตดังกล่าวจะต้องส่งแผนงานภายในปีแรกที่จะเข้าดำเนินการเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคในการเปลี่ยนผ่านตามสัญญา ซึ่งตามกำหนดจะต้องรักษาระดับการผลิตจากทั้ง 2 แหล่งให้อยู่ในอัตรารวม 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ตั้งแต่วันแรกที่เข้าดำเนินการ ซึ่งเชื่อว่าผู้ผลิตเดิมและผู้ที่ได้รับสัญญารายใหม่จะมีความร่วมมือระหว่างกันเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปด้วยความต่อเนื่อง ส่วนการรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียมนั้น สำหรับแหล่งเอราวัณ ปัจจุบันมีการรื้อถอนแล้ว 8 แท่น ส่วนแหล่งบงกช ยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งผู้ประกอบการรายใหม่และกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะรวมกันศึกษา ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปี 63

อนึ่ง ปัจจุบัน แหล่งเอราวัณ มีกลุ่มเชฟรอน เป็นผู้ดำเนินการ ขณะที่แหล่งบงกช มีกลุ่ม PTTEP เป็นผู้ดำเนินการ แต่เมื่อหมดสัมปทานในปี 65-66 กลุ่ม PTTEP ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูล ก็จะเป็นผู้เข้าดำเนินการทั้ง 2 แหล่งดังกล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ