พาณิชย์ เผยกฎถิ่นกำเนิดสินค้าอาเซียน-จีนฉบับใหม่บังคับใช้ ก.ค.62 ช่วยเอื้อสินค้าไทยส่งออกไปจีนเพิ่มขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 18, 2019 11:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กฎถิ่นกำเนิดสินค้า (Rules of Origin: ROOs) ที่ปรับปรุงใหม่ภายใต้พิธีสารเพื่อยกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA Upgrading Protocol) จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป ซึ่งจะเอื้อประโยชน์และอำนวยความสะดวกแก่ผู้ส่งออกไทย ที่จะขอรับสิทธิยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีนำเข้ามากกว่าปัจจุบัน

เนื่องจากได้มีการปรับปรุงเงื่อนไขสำหรับพิจารณายกเว้นหรือลดหย่อนภาษีนำเข้าภายใต้กรอบความตกลง ACFTA ให้มีความยืดหยุ่นขึ้น รวมถึงการปรับปรุงระเบียบปฏิบัติการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าและหลักเกณฑ์การระบุข้อมูลบนหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form E) ที่เคยเป็นอุปสรรคให้เรียบง่าย สอดคล้องกับรูปแบบการค้าสมัยใหม่ และอำนวยความสะดวกทางการค้า

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กฎถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลง ACFTA ระบุว่าสินค้าส่งออกต้องมีสัดส่วนวัตถุดิบภายในภูมิภาคไม่น้อยกว่า 40% ของมูลค่า FOB จึงจะถือว่ามีถิ่นกำเนิดและสามารถขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีศุลกากรได้ ขณะที่กฎถิ่นกำเนิดสินค้าฉบับปรับปรุงใหม่ได้มีการเพิ่มเกณฑ์การเปลี่ยนพิกัดศุลกากร เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ประกอบการ ส่งผลให้สินค้าประมาณ 40% ของจำนวนรายการสินค้าทั้งหมดมีกฎถิ่นกำเนิดสินค้าที่เสรี ยืดหยุ่น และสอดคล้องกับรูปแบบการผลิตที่หลากหลายขึ้นกว่าเดิม ซึ่งจะเป็นการช่วยเพิ่มโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการ ที่แต่เดิมอาจจะไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีศุลกากรเมื่อส่งออกไปจีน เพราะติดปัญหาเรื่องคุณสมบัติถิ่นกำเนิดสินค้า แต่กฎถิ่นกำเนิดสินค้าฉบับใหม่ได้แก้ไขปัญหาเหล่านี้ จึงทำให้ผู้ประกอบการไทยส่งออกไปจีนได้ง่ายขึ้น

โดยกลุ่มสินค้าที่ไทยจะได้ประโยชน์จากกฎถิ่นกำเนิดสินค้าฉบับปรับปรุง ประกอบด้วย พลาสติกและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ ไม้และผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบหรืออุปกรณ์จอ LCD เครื่องประดับทำจากเงิน ผลิตภัณฑ์จากเหล็ก ทองแดงและผลิตภัณฑ์

นายอดุลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2561 ที่ผ่านมา มูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้กรอบความตกลง ACFTA อยู่ที่ 17,633 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 88.57% ของมูลค่าการส่งออกรวมไปจีน เพิ่มขึ้น 24.82% โดยรายการสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์สูงสุด คือ ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์อยู่ที่ 98.96% ตามด้วย ทุเรียน มันสำปะหลัง โพลิเมอร์ของเอทิลีน และสตาร์ชจากมันสำปะหลัง ซึ่งมีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์อยู่ที่ 100%

กรมฯ ประเมินว่า มูลค่าและอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้กรอบความตกลง ACFTA ในปี 2562 จะเพิ่มสูงขึ้น จากการปรับเปลี่ยนกฎถิ่นกำเนิดสินค้าให้ยืดหยุ่น และสอดคล้องกับรูปแบบการผลิตของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะสินค้าส่วนประกอบหรืออุปกรณ์จอ LCD, ของทำด้วยเหล็ก, ของทำด้วยพลาสติก, อุปกรณ์สำหรับบังคับหรือควบคุมอัตโนมัติ, กระดาษและกระดาษแข็ง ซึ่งปัจจุบันเป็นกลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกสูง หากแต่มูลค่าการใช้สิทธิต่ำมาก โดยบางรายการอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ต่ำกว่า 1% ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากเงื่อนไขกฎถิ่นกำเนิดสินค้าที่เป็นอุปสรรค

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การส่งออกไปจีนมีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น กรมฯ ขอเชิญชวนให้ผู้ประกอบการที่ส่งอออกหรือมีเป้าหมายที่จะส่งออกไปจีนมายื่นขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form E เพื่อนำไปสำแดงต่อศุลกากรจีนในการขอรับสิทธิยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีนำเข้าจีน เพราะสินค้ากว่า 98% ของรายการสินค้าทั้งหมดสามารถขอรับสิทธิยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีนำเข้าจากจีนได้ โดยสินค้าเกือบ 8,000 รายการ คิดเป็น 95% ของจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด ได้รับสิทธิเสียภาษีนำเข้าในอัตรา 0%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ