กฟผ.คาดรู้ผลผู้ชนะประมูลจัดหา LNG ปลาย เม.ย.หลังให้ผู้ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้น 34 รายยื่นข้อเสนอราคาใน 18 เม.ย.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 19, 2019 11:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธวัชชัย จักรไพศาล รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า การคัดเลือกผู้ผลิตหรือผู้ค้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อเป็นผู้จัดส่ง LNG ให้กฟผ.ในปริมาณไม่เกิน 1.5 ล้านตัน/ปีนั้น คาดว่าจะสามารถประกาศผลผู้ชนะประมูลได้ในช่วงปลายเดือน เม.ย.62 เพื่อเตรียมนำเข้า LNG ในช่วงเดือน ก.ย.นี้ หลังจากที่ล่าสุดได้คัดเลือกผู้ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้น (Pre-Qualification) จำนวน 34 ราย จากที่มีผู้ที่ยื่นแสดงความสนใจทั้งสิ้น 43 ราย และ กฟผ.ได้ส่งเอกสารเชิญชวนประมูล (TOR) ด้านราคาไปยังผู้ที่ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นแล้วเมื่อวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา และจะเปิดให้ยื่นข้อเสนอด้านราคาในวันที่ 18 เม.ย.62

"วันที่ 18 เมษายนนี้เราเปิดให้เขายื่นข้อเสนอเข้ามาว่าจะขายให้เราราคาเท่าไหร่ ก็คาดว่าปลายเดือนเมษายนเราก็จะประกาศผลว่าใครเป็นคนชนะ ต่อจากนั้นก็จะนำเข้าเสนอบอร์ดให้อนุมัติ และช่วงเดือนพฤษภาคมก็จะเข้าขั้นตอนขออนุมัติจากรัฐบาล ถ้าไม่ติดขัดอะไร ประมาณเดือนมิถุนายนก็น่าจะลงนามกับทางผู้ชนะได้ ก็จะให้เขาเริ่มส่งมอบประมาณเดือนกันยายนนี้"นายธวัชชัย กล่าว

นายธวัชชัย กล่าวว่า การนำเข้า LNG ของ กฟผ.ในปีนี้ซึ่งเป็นปีแรก คาดว่าจะสามารถนำเข้าได้เพียง 2.8 แสนตันเท่านั้น เพราะมีเวลานำเข้าเพียงไม่กี่เดือน แต่ในปีต่อไปก็จะสามารถนำเข้าได้ตามเป้าหมายไม่เกิน 1.5 ล้านตัน/ปี เพื่อรองรับการเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า โดยการจัดส่ง LNG ทยอยจัดส่งเป็นรายเดือนขึ้นกับความจำเป็นในการเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้า

ทั้งนี้ ราคา LNG ที่ กฟผ.จัดหาต้องไม่สูงกว่าราคา LNG ต่ำสุดตามสัญญาจัดหาระยะยาวของประเทศไทยที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 31 ก.ค.60 และได้มอบหมายให้ กฟผ.ทำหน้าที่เป็นผู้นำเข้า LNG รายใหม่ของประเทศ อย่างไรก็ตามหากราคาที่ประมูลในครั้งนี้มีราคาสูงกว่าราคา LNG ต่ำสุดตามสัญญาในปัจจุบัน กฟผ.ก็จะยกเลิกแล้วเปิดประมูลใหม่

ส่วนความคืบหน้าการดำเนินโครงการสถานีเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซแบบลอยน้ำ (Floating Storage and Regasification: FSRU) บริเวณพื้นที่อ่าวไทยตอนบน ซึ่งเป็นโครงการ FSRU แห่งแรกของประเทศไทย สำหรับรองรับการนำเข้า LNG ในปริมาณ 5 ล้านตัน/ปีนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาคาดว่าจะเริ่มเปิดประมูลได้ใน 2-3 ปี

เบื้องต้นได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เสร็จแล้ว สำหรับโครงการ FSRU และโครงการท่าเทียบเรือ FSRU และโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติจาก FSRU ไปยังโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ แนวท่อบนบกพาดผ่าน โดยได้ส่งรายงานไปยังสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม (สผ.) หลังจากนี้ก็อยู่ที่ สผ.จะพิจารณาแล้วเสร็จเมื่อใด ขณะที่รายงานอีกส่วนหนึ่งได้ส่งไปยังคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อพิจารณาประกาศเขตเดินท่อต่อไป

ก่อนหน้านี้ กฟผ.ระบุว่า LNG ที่จัดหาในปริมาณไม่เกิน 1.5 ล้านตัน/ปีนั้น จะใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าใหม่ที่ประสิทธิภาพดีที่สุดของ กฟผ. เพื่อให้คุ้มค่ากับต้นทุนการนำเข้า LNG ซึ่งเบื้องต้น กฟผ.จะใช้สำหรับโรงไฟฟ้าวังน้อย ยูนิต 4 ขนาด 600-700 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งเป็นยูนิตใหม่ ที่มีความต้องการใช้ LNG เป็นเชื้อเพลิงราว 7-8 แสนตัน/ปี หากสามารถจัดหา LNG ได้มากกว่าปริมาณดังกล่าวก็จะนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าบางปะกง ยูนิตใหม่ด้วย

ส่วนการจัดทำโครงการ FSRU เพื่อรองรับนำเข้า LNG จำนวน 5 ล้านตัน/ปี จะจัดส่งก๊าซธรรมชาติให้กับโรงไฟฟ้าพระนครใต้และโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ รวมทั้งจัดส่งก๊าซธรรมชาติเข้าสู่โครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติในปัจจุบัน โดยมีกำหนดแล้วเสร็จและสามารถส่งก๊าซธรรมชาติให้กับโรงไฟฟ้าได้ในปี 67


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ