พลังงาน ปลื้ม World Economic Forum เลื่อนลำดับไทยมีความพร้อมสู่ระบบพลังงานในอนาคตเกินค่ามาตรฐานโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 25, 2019 15:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน และ Mr.Roberto Bocca, Head of Future of Energy and Materials, Member of the Executive Committee, World Economic Forum (WEF) ร่วมแถลงข่าว "อาเซียนกับการเป็นผู้นำระดับภูมิภาคด้านระบบพลังงานต่อการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคต" ว่า การสรุปภาพรวมรายงานประจำปี (Global Energy Transitions Index 2019) ของ WEF เรื่องการสนับสนุนระบบพลังงานต่อการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคตอย่างมีประสิทธิภาพ โดยผลสรุปรายงานฯ นี้ จะเป็นการวัดความพร้อมของระบบพลังงานต่อการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคต โดยในปี 2562 มีการจัดลำดับทั้งหมด 115 ประเทศทั่วโลก และประเทศไทยได้รับการจัดลำดับที่ดีเพิ่มขึ้นถึง 3 ลำดับ โดยมาอยู่ที่ลำดับที่ 51 จากเดิมลำดับที่ 54 ในปี 2561

การเลื่อนลำดับดังกล่าว เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงและการเข้าถึงพลังงาน และความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม ไม่สร้างก๊าซเรือนกระจกมากเกินไป และประชาชนเข้าถึงได้ โดยประเทศไทย ยังมีคะแนนด้านประสิทธิภาพของระบบพลังงาน และความพร้อมสู่ระบบพลังงานในอนาคตเกินกว่าค่ามาตรฐานโลกอีกด้วย นอกจากนี้ยังได้รับคำชื่นชมว่าไทยได้ก้าวสู่การใช้พลังงงานหมุนเวียนเป็นพลังงานหลักของประเทศมากขึ้นแล้ว รวมทั้งสัดส่วนพลังงานทดแทนจะเพิ่มขึ้นจากเดิม 20% เป็น 35% ของสัดส่วนพลังงานทั้งหมดในอีก 20 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ การจัดลำดับในรายงานของ WEF ครั้งนี้ ถือเป็นการวัดด้านประสิทธิภาพของระบบพลังงาน มีผลวิเคราะห์ข้อมูลที่ตรวจสอบอ้างอิงได้ โดยที่ผู้กำหนดนโยบายสามารถนำข้อมูลไปเพิ่มประสิทธิภาพของระบบพลังงานของประเทศได้ โดยลำดับ 1-5 ของประเทศที่มีความพร้อมของระบบพลังงานต่อการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคต ได้แก่ ประเทศสวีเดน รองลงมาได้แก่ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ฟินแลนด์ และเดนมาร์ก ตามลำดับ

นอกจากนี้ไทยมีความมั่นคงด้านพลังงาน โดยเฉพาะการมีก๊าซธรรมชาติในประเทศถึง 60% ของความต้องการใช้ในประเทศ อย่างน้อย 15 ปี โดยเฉพาะการมีก๊าซฯจากแหล่งเอราวัณและบงกช ที่เพิ่งประมูลเสร็จสิ้นเมื่อปี 2561 ส่งผลให้ในปี 2565 เป็นต้นไปราคาก๊าซฯ ไม่สูงเกินไป และมีโอกาสให้ค่าไฟฟ้าถูกลงได้

ด้านนายพูนพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ ผู้อำนวยการฝ่ายต่างประเทศ กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การสรุปผลรายงานประจำปี (Global Energy Transitions Index 2019) ของ WEF ได้เลื่อนอันดับประเทศไทย ในด้านความพร้อมของระบบพลังงานต่อการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคต ประจำปี 2562 ให้มาอยู่อันดับที่ 51 ดีขึ้นจากปี 2561 ที่อยู่อันดับ 54 จากประเทศสมาชิกทั้งหมด 115 ประเทศทั่วโลก และจัดอยู่ในอันดับ 3 ของประเทศในภูมิภาคอาเซียน รองจากอันดับ 1 สิงคโปร์ และ อันดับ 2 มาเลเซีย

โดย WEF ได้วัดผลจากความ 3 ปัจจัย คือ 1. ความมั่นคงพลังงานประเทศและการเข้าถึงพลังงานของประชาชน 2.พลังงานช่วยตอบสนองการเติบโตและการพัฒนาทางเศรษฐกิจประเทศ และ 3.ระบบพลังงานต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม หรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งวัดความพร้อมในการปรับตัวสู่พลังงานใหม่ในอนาคต เช่น ความยืดหยุ่นในการปรับตัว การตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมที่ดี และประชาชนมีบทบาทร่วมตัดสินใจและออกแบบพลังงานในอนาคต โดยเป้าหมายของไทยยังคงต้องการสร้างความสมดุล ระหว่าง ความมั่นคงพลังงาน การใช้พลังงานเพื่อตอบสนองการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งคนไทยต้องช่วยกันพัฒนาเพื่อให้ประเทศไทยเดินหน้าด้านพลังงานที่เหมาะสมต่อไป

ด้าน Mr.Roberto Bocca, Head of Future of Energy and Materials, Member of the Executive Committee ของ WEF กล่าวว่า WEF เชื่อมั่นว่าชาติในอาเซียนจะมีบทบาทสำคัญต่อการเป็นผู้นำระดับภูมิภาคด้านระบบพลังงานต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และจะเป็นชาติที่มีความพร้อมในการปฏิบัติการดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการริเริ่มแนวทางการกำหนดนโยบายพลังงานในรูปแบบใหม่ๆ และการหาพันธมิตรความร่วมมือทางพลังงาน จะเป็นแก่นสำคัญของการรับมือความท้าทายทางพลังงานของอาเซียน เนื่องจากจะไม่มีประเทศใดประเทศหนึ่งที่ระบบพลังงานจะพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคตได้เพียงประเทศเดียว และถือได้ว่า ชาติในอาเซียน อยู่ในตำแหน่งที่ดีที่แสดงความเป็นผู้นำในการผลักดันกลยุทธ์ระดับประเทศและระดับภูมิภาคอย่างมีประสิทธิภาพ

โดยภายใต้การเป็นประธานอาเซียนของประเทศไทย ในปี 2562 นี้ WEF พร้อมจะให้การสนับสนุนแผนพัฒนาความพร้อมสู่ระบบพลังงานในอนาคตของอาเซียน โดยจะได้ใช้ประโยชน์จากดัชนีวัดความพร้อมของระบบพลังงานของประเทศต่อการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคต ควบคู่ไปกับความร่วมมือด้านพลังงานผ่านเวทีของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ชาติในอาเซียน รองรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ