รมว.พลังงาน เล็งขยายผลใช้ B20 สำหรับรถกระบะเพิ่มเติม คาดประกาศใช้ใน 2 สัปดาห์ พร้อมยันไม่หนุนใช้ B10 ทั่วไป

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 29, 2019 14:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานเตรียมเปิดตัวการใช้น้ำมันดีเซล B20 สำหรับรถกระบะทั่วไปเพิ่มเติม หลังจากปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการร่วมกันกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ประกอบค่ายรถยนต์ โดยคาดว่าจะประกาศรายละเอียดได้ภายใน 2 สัปดาห์ข้างหน้า ขณะที่ยืนยันไม่มีนโยบายสนับสนุนสำหรับการใช้ B10 เพราะเห็นว่าการใช้ B20 จะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมมากกว่า

"การใช้ B20 สำหรับรถกระบะทั่วไปที่มีความพร้อมนั้น เรากำลังทำรายละเอียดกันอยู่ ตอนนี้ B10 เราก้าวข้ามไปแล้ว ที่ปตท.ทดสอบเราก็มาใช้กับรถไฟแล้วเราใช้ได้เราก็เห็นความจำเป็นเราก็กระโดดไป B20 อินโดนีเซียก็ยังใช้ B20 ได้ ตอนนี้กับค่ายรถยนต์เราก็ work กันอยู่ คาดว่าจะประกาศได้ใน 2 สัปดาห์"นายศิริ กล่าว

เมื่อวันที่ 1 ก.พ.62 กรมธุรกิจพลังงาน ออกประกาศกำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันดีเซล เพื่อส่งเสริมให้มีการน้ำมัน B20 ในยานยนต์ปัจจุบัน รองรับการเปิดจำหน่ายน้ำมัน B20 ในสถานีบริการน้ำมันทั่วไป โดยได้รับการยืนยันจากผู้ผลิตรถยนต์ทั้ง HINO, ISUZU, SCANIA, VOLVO ส่วนมากเป็นรถยนต์ที่มีมาตรฐานมลพิษ Euro II ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลสนับสนุนให้มีการจำหน่ายราคาต่ำกว่าน้ำมันดีเซลปกติทั่วไป 5 บาท/ลิตร ซึ่งเป็นมาตรการสนับสนุนพิเศษที่จะสิ้นสุดในเดือนพ.ค.62 หลังจากนั้นราคา B20 จะต่ำกว่าราคาดีเซลปกติในอัตรา 3 บาท/ลิตร

รมว.พลังงาน กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีการใช้น้ำมันดีเซลราว 65 ล้านลิตร/วัน โดยในส่วนนี้กระทรวงวางเป้าหมายจะมีการใช้ B20 ราว 15 ล้านลิตร/วัน ภายในกลางปี 62 จากปัจจุบันมีการใช้ B20 อยู่ 1 ล้านลิตร/วัน และคาดจะเพิ่มเป็น 3 ล้านลิตร/วัน ในเดือนพ.ค.

ทั้งนี้ การใช้ B20 จะเป็นส่วนหนึ่งช่วยดูดซับสต็อกน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ได้เพิ่มขึ้น ตามผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งปีนี้คาดว่าการบริโภคน้ำมันปาล์มดิบรวมอยู่ที่ 3 ล้านตัน เพิ่มจาก 2.5 ล้านตันในปีที่แล้ว โดยกระทรวงวางเป้าหมายจะใช้น้ำมันปาล์มดิบในภาคพลังงาน 2 ล้านตัน ส่วนที่เหลืออีก 1 ล้านตันใช้ในเรื่องการบริโภค ขณะที่ปัจจุบันสต็อกน้ำมันปาล์มดิบอยู่ที่ราว 4 แสนตัน ลดลงจากเมื่อ 2-3 ปีที่แล้วที่มีสต็อกสูงถึง 5 แสนตัน

โดยในปีนี้ภาคพลังงานมีการใช้น้ำมันปาล์มดิบสำหรับการผลิตไบโอดีเซล (B100) เพื่อมาผสมเป็น B20 และยังนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยดูดซับปริมาณสต็อกน้ำมันปาล์มดิบได้เพิ่มขึ้น ส่วนการที่จะสนับสนุนให้บมจ.ปตท.(PTT) นำน้ำมันปาล์มดิบมาผลิต B100 เพื่อส่งออกนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาว่าจะช่วยสนับสนุนที่อัตราเท่าใด หลังจากก่อนหน้านี้กระทรวงพาณิชย์มีมาตรการช่วยอุดหนุนการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบที่อัตรา 1.75 บาท/กิโลกรัม แต่ไม่มีผู้เข้าร่วมโครงการเพราะยังเป็นอัตราที่ไม่ดึงดูดใจมากนัก

นอกจากนี้กระทรวงพลังงานได้มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เตรียมความพร้อมในการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(พ.ร.บ. กฟผ.) เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่พิจารณาเนื่องจากรัฐบาลชุดปัจจุบันไม่สามารถดำเนินการได้ทัน เพราะสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)จะสิ้นสุดวาระการทำงานลงหลังเข้าสู่ช่วงการเปลี่ยนผ่านสู่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ โดยการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวเพื่อปลดล็อกให้กฟผ.สามารถดำเนินการธุรกิจจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะจะสามารถขาย LNG ที่จะจัดหาเข้ามา 1.5 ล้านตัน/ปีออกขายสู่ตลาดได้หากเหลือจากการใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าของกฟผ.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ