"คณิศ" ปลื้มจีน-ญี่ปุ่นจับมือร่วมลงทุนในพื้นที่อีอีซี คาดเม.ย.รู้ผลประมูล 5 โครงการใหญ่ มั่นใจการเมืองไม่มีผลกระทบ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 2, 2019 15:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เปิดเผยว่า ทาง สำนักงาน กพอ. ได้ร่วมกับองค์การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) และคณะกรรมการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (China Council for the Promotion of International Trade : CCPIT) จัดสัมมนา Japan – China Workshop on Business Cooperation in Thailand โดยมีนักธุรกิจญี่ปุ่น – จีน กว่า 260 บริษัท รวมทั้งนักธุรกิจไทยจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เข้าร่วมงาน เพื่อให้ข้อมูล และสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ (Business Networking) ระหว่างภาคเอกชนญี่ปุ่น-จีน ในการร่วมลงทุนในพื้นที่ อีอีซี ซึ่งจะเป็นพื้นที่ตัวอย่างของความร่วมมือการลงทุนของภาคเอกชนญี่ปุ่นและจีนในประเทศที่ 3 ให้เกิดขึ้นจริง โดยมีสาขาธุรกิจที่มีความเป็นไปได้สูง 3 สาขา ได้แก่ สาขาการขนส่งและโลจิสติกส์ สาขาพลังงานและสิ่งแวดล้อม และสาขาเมืองอัจฉริยะ อาทิเช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City

นอกจากนั้น นักลงทุนญี่ปุ่นและจีนยังสนใจการลงทุนในสาขาการบินและโลจิสติกส์ (Logistics) สาขาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Robotics and Smart automation) และสาขาการแพทย์สมัยใหม่ (New Regenerative medicine) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงมีความเป็นไปได้ว่าโครงการเหล่านี้จะเข้าข่ายการร่วมมือลงทุนของ 3 ประเทศในอนาคต

นายคณิศ กล่าวต่อว่า ความร่วมมือการลงทุนระหว่างญี่ปุ่นและจีนในประเทศที่ 3 ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศไทย หลังจากทั้ง 2 ประเทศประกาศปรับเปลี่ยนการแข่งขันให้เกิดเป็นความร่วมมือแทน ซึ่งการลงทุนในพื้นที่อีอีซีส่วนใหญ่ มีความเชื่อมโยงระหว่างบริษัทจากญี่ปุ่นและจีนอยู่แล้วในหลายโครงการ ตามความเชี่ยวชาญของแต่ละประเทศ

"ตอนนี้โครงการร่วมมือ 3 ประเทศเป็นเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน แต่ระยะต่อไปจะเป็นการร่วมมือเพื่อมาลงทุนในกิจการอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการพัฒนาเมือง"

โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลักของอีอีซีมีมูลค่ารวม 650,000 ล้านบาท ทุกโครงการมีนักลงทุนของทั้งสองประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องในรูปแบบต่าง ๆ อยู่แล้ว รวมถึงการเข้ามาให้บริการทางการเงินของสถาบันการเงินจากทั้ง 2 ประเทศ

"เราอยากเห็นญี่ปุ่นและจีนจับมือกันมา ซึ่งเราไม่กลัวจีนว่าจะเป็นนอมินีหรือไม่ เพราะเห็นว่าความร่วมมือนี้กลับเป็นการ Synergy แบบใหม่เรื่องแบบนี้ก็น่าจะน้อยลงไป ซึ่งจริงๆใครจะเข้ามาร่วมมือในอีอีซีเราก็เปิดกว้างหมดแต่ที่เห็นว่าจีนและญี่ปุ่นเยอะเพราะอยู่ใกล้และมีเงินมากกว่า "นายคณิศ กล่าว

นายคณิศ กล่าวว่า เชื่อว่าภายในเดือน เม.ย.นี้น่าจะได้ผู้ชนะการประมูลโครงสร้างพื้นฐานทั้ง 5 โครงการ ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน, โครงการท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3, โครงการท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3, โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก และโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา ซึ่งจะได้รายงานความคืบหน้าต่อที่ประชุมบอร์ดอีอีซี ก่อนเสนอ ครม.พิจารณาเห็นชอบตามลำดับต่อไป

ส่วนสถานการณ์การเมืองในขณะนี้นั้น นายคณิศ กล่าวว่า ไม่ว่าใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็จะมาเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกโดยตำแหน่งอยู่แล้ว และอีอีซีเองมีกฎหมายเป็นของตัวเอง มีสำนักงานเป็นของตัวเอง มีบุคลากรที่จะมาขับเคลื่อนงานให้เดินไปข้างหน้า

"ที่ผ่านมาญี่ปุ่นมีการลงทุนค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับจีนที่ยังไม่มาเต็มรูปแบบ แต่คาดว่าครึ่งปีหลังเมื่อทำ Infrastructure เสร็จแล้วการลงทุนจากจีนน่าจะขยับตัวมากขึ้น ดังนั้น สกพอ.จะตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลการเข้ามาลงทุนที่เป็นความร่วมมือระหว่างญี่ปุ่นและจีนเป็นการเฉพาะขึ้นเพื่อสานต่อการดูแลให้ต่อเนื่อง"

ด้านนายมาซากิ อิชิกาว่า อธิบดีสำนักความร่วมมือการค้าและเศรษฐกิจ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (เมติ) ญี่ปุ่น กล่าวว่า แม้ว่าขณะนี้จะไม่สามารถคาดเดาผลการเลือกตั้งในประเทศไทยได้ว่าใครจะเป็นรัฐบาลและคณะรัฐมนตรีจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร แต่ในส่วนของนักลงทุนญี่ปุ่นยังเห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุน มีศักยภาพ และเป็นประเทศที่ญี่ปุ่นมาลงทุนมากที่สุดต่อไปเรื่อยๆ นี่คือสาเหตุที่เลือกประเทศไทยเป็นเป้าหมายแรกของความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างประเทศจีนและญี่ปุ่นในประเทศที่ 3

"ถ้าจีนและญี่ปุ่นจะร่วมมือกันมาลงทุนในประเทศไทย น่าจะ Win-Win-Win คือเอื้อประโยชน์ต่อกันทั้ง 3 ประเทศ"

สำหรับสถานการณ์การเมืองไทยจะมีผลให้นักลงทุนต่างชาติชะลอการลงทุนหรือไม่ นายอิชิกาว่า กล่าวว่า ญี่ปุ่นมีคงนโยบายฉันท์มิตรต่อไทยอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นไม่ว่าผลการเลือกตั้งครั้งนี้จะออกมาเป็นอย่างไร แต่เชื่อว่านักลงทุนจะยังคงเห็นว่าประเทศไทยยังมีความน่ามาลงทุน เป็นประเทศที่มีความสำคัญในฐานะฐานการลงทุนของประเทศญี่ปุ่นต่อไปอยู่ดี ส่วนแต่ละบริษัทจะมีความคิดเห็นต่อเรือ่งนี้อย่างไรคงต้องไม่สามารถตอบแทนแต่ละบริษัทได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ