ธปท.เซ็น MOU ด้านการชำระเงินและนวัตกรรมทางการเงินกับแบงก์กลางอาเซียนเชื่อมโยงความร่วมมือในภูมิภาค

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 4, 2019 12:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ได้ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือ (MOU) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างธนาคารกลางของอาเซียนและนวัตกรรมทางด้านการชำระเงินเพื่อเชื่อมโยงความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจของอาเซียนจะเข้มแข็งขึ้นจากการนำเทคโนโลยีทางการเงินสมัยใหม่มาใช้ในบริการชำระเงิน​ อันจะช่วยสนับสนุนการค้า การลงทุน และบริการต่างๆ ในภูมิภาค

สำหรับการลงนามระหว่าง ธปท.กับสถาบันการเงินของแต่ละประเทศต่างๆ ในอาเซียนวันนี้ ประกอบด้วย 1.การลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างธนาคารกลางอินโดนีเชีย และธนาคารแห่งประเทศไทย ในด้านระบบการชำระเงินและนวัตกรรมทางการเงิน

2.การพัฒนาธุรกรรม L/C ระหว่างอินโดนีเซียและไทย และภายในอาเซียน โดยใช้เทคโนโลยี Blockchain (ธนาคารกรุงเทพ)

3. การลงนามกับกัมพูชาในการชำระเงินระหว่างประเทศด้วย Interoperable QR Payment (ธนาคารไทยพาณิชย์)

4. การลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างธนาคารกลาง สปป. ลาวและธนาคารแห่งประเทศไทย ในด้านระบบการชำระเงินและนวัตกรรมทางการเงิน ประกอบด้วย การชำระเงินระหว่างประเทศด้วย Interoperable QR Payment (ธนาคารธนชาติ และ BCEL), การโอนเงินระหว่างประเทศแบบ Real-time สำหรับภาคธุรกิจด้วยเทคโนโลยี Blockchain (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา)

5. การลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างเมียนมาและไทย ในการโอนเงินระหว่างประเทศด้วยเทคโนโลยี Blockchain (ธนาคารกรุงไทย Shwe Bank และ Everex)

6. การลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างสิงคโปร์และไทย ในการโอนเงินระหว่างประเทศด้วย API (DBS และธนาคารกสิกรไทย) การชำระเงินระหว่างประเทศด้วย Interoperable QR Payment (AIS mPay, Singtel Group, ธนาคารกสิกรไทย), การชำระเงินระหว่างประเทศด้วย BeWallet Interoperable QR Payment (ธนาคารกรุงเทพ และ UOB)

7. การลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ในการโอนเงินระหว่างประเทศผ่าน API (CIMB - SpeedSend)

"วันนี้ เราได้เห็นความร่วมมือของสถาบันการเงิน ผู้ให้บริการ non-banks และผู้ให้บริการบัตรเครดิต/เดบิต ในการพัฒนาบริการชำระเงินระหว่างประเทศด้วยเทคโนโลยีใหม่ เช่น QR Code, Distributed Ledger Technology (Blockchain), Application Programming Interface (API) และ Card network การพัฒนานวัตกรรมทางการเงินเหล่านี้ จะช่วยตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บริการกลุ่มต่างๆ ที่หลากหลาย และจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการเงิน ทำให้ธุรกิจและการค้าระหว่างประเทศสะดวกขึ้น ลดต้นทุนของผู้ใช้บริการ รวมทั้งเพิ่มการเข้าถึงบริการการเงินของประชากรในอาเซียนให้ทั่วถึงยิ่งขึ้น" นายวิรไทกล่าว

พร้อมระบุว่า ธนาคารกลางในภูมิภาคอาเซียนได้ทำงานร่วมกัน เพื่อสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน ซึ่งธนาคารกลางสามารถมีบทบาทสำคัญในฐานะผู้ขับเคลื่อนให้เกิดการเชื่อมโยงบริการชำระเงิน โดยหนึ่งในเรื่องสำคัญ คือ การผลักดันให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินและมาตรฐานกลางที่สามารถเชื่อมโยงกันได้ ซึ่งได้ถูกนำมาใช้ในบริการการเงินที่นำมาแสดงในวันนี้ สิ่งเหล่านี้จะช่วยเชื่อมโยงบริการชำระเงินระหว่างประเทศ รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมทางการเงินในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ