ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดกำไรแบงก์พาณิชย์ Q1/62 ลดลง 4.0% รับผลรายได้ค่าธรรมเนียมหดติดต่อกัน 3 ไตรมาส

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 9, 2019 09:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ภาพรวมกำไรสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในไทย จะอยู่ที่ประมาณ 4.51 หมื่นล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนประมาณ 4.0% โดยกำไรจากการดำเนินงานยังคงเผชิญแรงกดดันหลักจากผลกระทบจากการยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านช่องทางดิจิทัล

ทั้งนี้ ผลกระทบจากการยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านช่องทางดิจิทัล ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่กดดันผลประกอบการของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ในไตรมาส 1/2562 ขณะที่คาดว่ารายได้ค่าธรรมเนียมจากส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะค่าธรรมเนียมการเป็นนายหน้าขายประกัน ค่าธรรมเนียมการจัดการ และค่าธรรมเนียมบริการที่ปรึกษา ยังเผชิญข้อจำกัดในการเติบโต และไม่สามารถชดเชยรายได้ค่าธรรมเนียมในส่วนที่หายไปได้ทัน เพราะคาดว่า ปริมาณการโอนเงินผ่านช่องทางดิจิทัลซึ่งไม่มีค่าธรรมเนียมดังกล่าว ก็น่าจะเร่งตัวสูงขึ้นมากด้วยเช่นกัน

จากทิศทางดังกล่าวข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า รายได้ค่าธรรมเนียมรับของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย อาจหดตัวลงในกรอบประมาณ -3.0% ถึง -5.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) ซึ่งนับเป็นการหดตัวสามไตรมาสติดต่อกันนับตั้งแต่ไตรมาส 3/2561

ขณะที่กำไรสุทธิของธนาคารพาณิชย์ไทย (กรณีที่ไม่รวมกำไรจากรายการพิเศษ อาทิ กำไรจากการขายเงินลงทุน) ในไตรมาส 1/2562 อาจพลิกกลับมาหดตัวลงประมาณ 4.0% YoY เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ดี ผลจากปัจจัยเชิงฤดูกาล อาจทำให้กำไรสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ทรงตัว หรือมีโอกาสขยับขึ้นได้เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยค่าใช้จ่ายทางการตลาด อาจลดต่ำลงในไตรมาส 1/2562 ประกอบกับมีธนาคารพาณิชย์บางแห่งตั้งสำรองค่าใช้จ่ายพนักงาน (สำหรับพนักงานอายุงาน 20 ปีขึ้นไปจาก 300 วัน เป็น 400 วัน) ตามพ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ไปแล้วในไตรมาส 4/2561

ผลจากฤดูกาลของการชำระคืนสินเชื่อหลายๆ ประเภท อาจทำให้ยังไม่เห็นการเร่งตัวขึ้นของสินเชื่อในภาพรวมมากนัก และอาจมีผลทำให้อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (NIM) ชะลอลงในไตรมาส 1/2562

อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net Interest Margin: NIM) อาจขยับลงจากผลของปัจจัยเชิงฤดูกาลที่มีการชำระคืนสินเชื่อในไตรมาส 1/2562 (ซึ่งหักล้างผลบวกจากสินเชื่อรายย่อยตัวหลัก โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ที่ปล่อยใหม่) ประกอบกับต้นทุนการระดมเงินฝากพิเศษบางส่วนอาจเริ่มขยับสูงขึ้นบ้างตามภาวะตลาดในช่วงหน้านี้ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ อาจขยับลงมาที่ 2.85% ในไตรมาส 1/2562 จาก 2.91% ในไตรมาส 4/2561 ขณะที่คาดว่าสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย อาจเติบโตในกรอบประมาณ 5.6-5.7% YoY ในช่วงไตรมาสที่ 1/2562 ทรงตัวเมื่อเทียบกับที่ขยายตัว 5.7% YoY ในไตรมาส 4/2561 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี แรงหนุนเพิ่มเติมก่อนที่เกณฑ์การกำหนดการวางเงินดาวน์สำหรับการซื้อบ้าน (มาตรการ LTV ใหม่) จะมีผลบังคับใช้ในไตรมาสที่ 2/2562 อาจหนุนให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยขยายตัวสูงถึงประมาณ 9.0-9.5% YoY ในไตรมาส 1/2562 เร่งขึ้นจากที่เติบโต 7.8% ในไตรมาส 4/2561

ประเด็นด้านคุณภาพหนี้ ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อเนื่อง โดยสินเชื่อที่ต้องติดตามใกล้ชิด ยังคงเป็นสินเชื่อ SMEs ซึ่งมีความเปราะบางเนื่องจากทิศทางการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจยังคงอยู่ในกรอบที่จำกัดตลอดช่วงครึ่งแรกของปี นอกจากนี้ อาจต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ซึ่งล้วนเป็นสินเชื่อรายย่อยที่เติบโตค่อนข้างสูงในปี 2561 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของระบบธนาคารพาณิชย์ (รวมธนาคารพาณิชย์ไทย และสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ) มีโอกาสขยับขึ้นเล็กน้อยมาที่ 2.95% ในไตรมาส 1/2562 จากระดับ 2.93% ในไตรมาส 4/2561 อย่างไรก็ดี คาดว่า สัดส่วนค่าใช้จ่าในการตั้งสำรองเผื่อหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อ (Credit Cost) อาจทรงตัวที่กรอบ 1.165-1.175% ในไตรมาส 1Q/2562 จาก 1.16% ในไตรมาส 4Q/2561 เนื่องจากมีการตั้งสำรองฯ ส่วนเกินในระดับสูง ขณะที่คาดว่า ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่า 145% ซึ่งเพียงพอต่อการรองรับความเสี่ยงในอนาคต

"สถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น ตอกย้ำว่า โจทย์ที่ท้าทายความสามารถในการทำกำไรในภาพรวมของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยตลอดระยะเวลาที่เหลือของปี 2562 จะยังคงเป็นเรื่องการบริหารจัดการต้นทุน ปรับการควบรวมสาขา และเน้นกลยุทธ์ผ่านช่องทางดิจิทัล ซึ่งจะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการเร่งผลักดันรายได้ในส่วนอื่นๆ ทั้งรายได้ดอกเบี้ยจากการปล่อยสินเชื่อ และรายได้ค่าธรรมเนียมประเภทอื่นๆ" เอกสารเผยแพร่ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ