รมว.พลังงาน ดันใช้ B10 เป็นน้ำมันดีเซลทางเลือกคาดเริ่มใน พ.ค.หลังค่ายรถญี่ปุ่นรับรองการใช้

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 10, 2019 17:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานเตรียมผลักดันการใช้ B10 ซึ่งมีส่วนผสมของไบโอดีเซล (B100) สัดส่วน 10% ในน้ำมันดีเซล เป็นน้ำมันทางเลือกในเดือน พ.ค.นี้ หลังผู้ผลิตรถยนต์จากค่ายรถญี่ปุ่นยืนยันว่าใช้ B10 ได้ โดยเฉพาะรถยนต์ที่ผลิตตั้งแต่ปี 54 แต่ยังมีความกังวลเรื่องมาตรฐานของ B100 ที่ควรให้มีความบริสุทธิ์มากกว่าในปัจจุบัน ส่วนค่ายรถยุโรปและสหรัฐ ยังไม่พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนมาใช้ B10 ทำให้กระทรวงจะยังไม่สามารถประกาศใช้ B10 เป็นน้ำมันฐานได้ในขณะนี้

ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่จะมีขึ้นในปลายเดือนเม.ย.นี้ จะพิจารณารายละเอียด พร้อมทั้งมาตรการจูงใจเพื่อให้เกิดการใช้ B10 ซึ่งอาจจะใช้มาตรการด้านราคาเข้ามาพิจารณาด้วย

"ผู้ผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่นยืนยันการใช้ B10 ได้ไม่มีปัญหา สำหรับรถตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมาหรือรถไม่เกิน 6-7 ปี ส่วนรถเก่าก็อาจต้องเอารถไปปรับสภาพให้พร้อมใช้ได้ดี ส่วนค่ายยุโรป ยังไม่พร้อมเปลี่ยนมาใช้ B10 ดังนั้น การส่งเสริมการใช้ B10 ต่อไปนั้นก็จะให้สถานีบริการเลือกว่าสถานีบริการใดจะขาย B10 เป็นดีเซลฐานก็เลือกได้ ส่วนสถานีบริการใดจะใช้ B7 เป็นฐานก็เลือกได้ เราก็จะมีการทำเครื่องหมายบอกไว้ชัดเจน ค่ายรถญี่ปุ่นส่วนใหญ่ใช้ B10 ได้ ค่ายรถยุโรป สหรัฐ ต้องระมัดระวัง นโยบายก็คงจะประกาศออกมาหลังประชุมกบง.ในสิ้นเดือนนี้ก่อน"นายศิริ กล่าว

นายศิริ กล่าวอีกว่า สำหรับการที่สมาคมผู้ผลิตรถยนต์แห่งประเทศญี่ปุ่น (JAMA) มีความกังวลต่อมาตรฐาน B100 ที่ต้องการให้มีความบริสุทธิ์มากกว่าในปัจจุบัน โดยเฉพาะเรื่องปริมาณโมโนกลีเซอร์ไรด์ ที่จะต้องต่ำกว่า 0.4% โดยน้ำหนักนั้น ทำให้ต้องมีการหารือร่วมกับผู้ผลิต B100 ในประเทศเพื่อร่วมแก้ปัญหาดังกล่าว จากปัจจุบันที่มีผู้ผลิต B100 บริสุทธิ์ได้เพียง 2 รายในประเทศ ซึ่งรวมถึงบมจ.โกลบอลกรีนเคมิคอล (GGC) คิดเป็นประมาณ 20-25% ของผู้ผลิต B100 ทั้งประเทศ ซึ่งหากสามารถปรับ B100 ให้มีความบริสุทธิ์สูงขึ้น ก็จะทำให้เกิดการใช้ B10 เพิ่มขึ้น และจะมีโอกาสประกาศให้ B10 เป็นน้ำมันดีเซลฐานได้ต่อไป จากปัจจุบันที่มีการใช้ B7 เป็นน้ำมันดีเซลฐาน

ทั้งนี้ การส่งเสริมให้มีการใช้ B10 และ B20 ของกระทรวงพลังงานอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการส่งเสริมให้มีการน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก็เชื่อว่าจะทำให้เกิดการใช้ CPO ในภาคพลังงานเพิ่มจากระดับ 1.4 ล้านตัน/ปี เป็นระดับ 2.5-2.6 ล้านตัน/ปี หรือคิดเป็น 75% ของการผลิต CPO ในปีนี้ที่อยู่ระดับประมาณ 3 ล้านตัน ซึ่งจะเป็นการดูดซับปริมาณ CPO ออกจากตลาดและผลักดันให้ราคาผลปาล์มปรับตัวดีขึ้น

อย่างไรก็ตามปัจจุบันราคาผลปาล์มยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง โดยปัจจุบันอยู่ที่ 1.95-2.3 บาท/กิโลกรัม (กก.) จากระดับ 2.4 บาท/กก.เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แต่ก็หวังว่าการใช้ B10 มีความต่อเนื่องก็จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้

"รถปิกอัพส่วนใหญ่ในบ้านเราเป็นรถญี่ปุ่น ซึ่งทำให้ B10 เป็นตลาดใหญ่พอสมควร ช่วงนี้เราก็จะใช้ B10 เป็นมาตรการทางเลือกก่อน เพราะการผลิต B100 ในไทยยังไม่พร้อมที่จะผลิตเป็นเกรดบริสุทธิ์ทุกราย ก็คงต้องให้เวลาปรับตัว เมื่อสามารถผลิต B100 ได้ครบทุกเจ้าแล้วก็จะใช้ B10 เป็นเกรดพื้นฐานต่อไป"รมว.พลังงาน กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ