ผู้ว่าธปท. เชื่อแนวโน้มศก.ไทยดีขึ้นใน H2 หลังหลายปัจจัยชัดเจนขึ้น ทั้งปีโต 3.8% สอดคล้องศักยภาพ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 19, 2019 13:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า จากการประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2562 ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.8% นั้น แม้จะปรับลดลงเล็กน้อยจากปีก่อนแต่ยังถือว่าอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับศักยภาพของระบบเศรษฐกิจไทย

ทั้งนี้ คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะมีปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวได้ดีกว่าในช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งมีปัจจัยจากบรรยากาศด้านการค้าระหว่างประเทศที่ดีขึ้นจากช่วงครึ่งปีแรกที่ยังได้รับแรงกดดันจากปัญหาสงครามการค้าที่หลายประเทศทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบ ไม่เฉพาะแต่ประเทศไทย ซึ่งก่อนหน้านี้มีผู้ประกอบการจำนวนมากที่กังวลต่อมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐและจีนที่จะออกมา จึงได้สั่งนำเข้าสินค้าไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว ดังนั้นจึงส่งผลให้ยอดสั่งคำซื้อและยอดการผลิตในช่วงต้นปีนี้จึงต่ำกว่าปกติ ซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากการกีดกันทางการค้า แต่เมื่อสินค้าที่สั่งไปก่อนล่วงหน้าได้ทยอยลดลง ก็เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อการผลิตของประเทศต่างๆ รวมทั้งการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ให้เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยหนุนจากการย้ายฐานการผลิตจากบางประเทศเข้ามาในไทย มีการขยายการลงทุนเพิ่มเติม และคาดว่าจะเริ่มเดินเครื่องกำลังการผลิตได้ในช่วงครึ่งปีหลัง และสุดท้ายเป็นปัจจัยเรื่องความชัดเจนทางการเมืองภายในประเทศ ซึ่งในช่วงครึ่งหลังของปีคาดว่าจะสามารถมีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศได้ ทำให้นโยบายต่างๆ จะมีความชัดเจนมากขึ้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เคยชะลอตัวไปก่อนหน้านี้จะเริ่มขับเคลื่อนได้จากการเห็นนโยบายทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนของรัฐบาลชุดใหม่

"ทั้งหมดนี้ คือสมมติฐานประมาณการเศรษฐกิจที่ทำให้คาดว่า ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวดีขึ้น จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าในช่วงครึ่งแรกของปี" ผู้ว่าฯ ธปท.ระบุ

นายวิรไท กล่าวว่า หากมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ภายในช่วงเดือนมิ.ย. ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อประมาณการเศรษฐกิจไทยที่ ธปท.ประเมินไว้ที่ 3.8% แต่หากมีความล่าช้า หรือความไม่ชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาล เช่น เลื่อนออกไปถึง ส.ค.หรือ ก.ย. ก็จะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ เช่น การลงทุนในโครงการใหม่ๆ ของภาครัฐ ตลอดจนโครงการที่อยู่ในปีงบประมาณ 2563 ซึ่งจำเป็นต้องให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบ ซึ่งหากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ล่าช้าก็จะทำให้การใช้งบประมาณในโครงการใหม่ๆ ต้องเลื่อนออกไป รวมทั้งนโยบายบางส่วนที่ภาคเอกชนยังรอความชัดเจนจากรัฐบาลใหม่ที่จะเป็นผู้ตัดสินใจ เช่น การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ

นอกจากนี้ นักลงทุนหลายกลุ่มได้ให้ความสำคัญกับทิศทางการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งหลายประเทศที่เป็นคู่เจรจาของไทยยังรอให้มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ เพื่อที่จะขับเคลื่อนการเจรจาการค้าที่ยังค้างคาอยู่ในเดินหน้าต่อไป

"หากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ต้องเลื่อนออกไปยาว ก็จะเป็นประเด็นทำให้มีความไม่แน่นอน ไม่ชัดเจน และอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในปีนี้ได้ แต่ถ้าหากสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เร็ว ภายในเดือนมิ.ย. ก็ไม่มีผลกระทบต่อประมาณการเศรษฐกิจของไทย ที่เราได้ประเมินไว้" นายวิรไทกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ