สศค.เผยภาวะเศรษฐกิจการคลัง มี.ค.และ Q1/62 มีสัญญาณแผ่วตัวลง ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 29, 2019 15:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน มี.ค.62 และไตรมาส 1/62 มีสัญญาณแผ่วลงจากอุปสงค์ภายนอกเป็นสำคัญ เนื่องจากการหดตัวของการส่งออกสินค้าตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและการชะลอตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ

ขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศยังสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะในด้านการบริโภคภาคเอกชนจากยอดจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั้ง อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาคเอกชนมีสัญาณชะลอตัวโดยเฉพาะในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรสะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุน ในขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในและภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคง

สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาคเอกชนในเดือน มี.ค.และไตรมาส 1/62 ปรับตัวดีขึ้น โดยภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัว 2.2% ทำให้ไตรมาส 1/62 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ขยายตัว 1.7% ขณะที่การบริโภคสินค้าคงทนสะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งขยายตัวเร่งขึ้นที่ 15.2% ทำให้ไตรมาส 1/62 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งขยายตัวที่13.9% เช่นเดียวกันกับปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวเร่งขึ้นที่ 2.3% คาดว่าเป็นจากนโยบายส่งเสริมการขายของผู้ผลิต

ขณะที่ปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค กลับมาขยายตัว 4.9% ในเดือน มี.ค.62 ทำให้ปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคไตรมาส 1/62 ขยายตัวที่ 0.7% สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 67.6 ปรับตัวลงเล็กน้อย อย่างไรก็ตามดัชนีดังกล่าว ณ ไตรมาส 1/62 อยู่ที่ 68.1 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่แล้ว

ส่วนเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนส่งสัญญาณชะลอตัวจากเครื่องชี้การลงทุนหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัวชะลอลงที่ 4.6% ในเดือน มี.ค.62 ส่งผลให้ไตรมาส 1/62 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ยังคงขยายตัวได้ที่ 9.5% ขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ หดตัวที่ -10.3% ภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์หดตัวลงเล็กน้อยที่ -1.6% จากการหดตัวในหมวดภาษีหัก ณ ที่จ่ายจากการขายอสังหาริมทรัพย์ -17.0% เป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน มี.ค.62 กลับมาขยายตัวที่ 0.3% โดยมีสาเหตุสำคัญจากการขยายตัวของดัชนีราคาหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และราคาผลิตภัณฑ์คอนกรีตก็ขยายตัวตามราคาปูนซีเมนต์ที่เพิ่มขึ้น

ด้านอุปสงค์จากต่างประเทศในเดือน มี.ค.62 และไตรมาส 1/62 สะท้อนจากการส่งออกสินค้าส่งสัญญาณหดตัว โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือน มี.ค.62 มีมูลค่าเท่ากับ 21.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -4.9% มาจากการหดตัวการส่งออกสินค้า อาทิ HDD แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องจักรกล และน้ำมันสำเร็จรูป อย่างไรก็ตาม กลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ส่วนกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมที่ขยายตัวเป็นบวกได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า โดยตลาดส่งออกสำคัญที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ ญี่ปุ่น เวียดนาม อินเดีย และสหราชอาณาจักร อย่างไรก็ตามไตรมาส 1/62 มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัว -1.6%

ส่วนการนำเข้าสินค้ามีมูลค่าอยู่ที่ 19.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -7.6% สาเหตุมาจากการนำเข้าเครื่องบินและทองคำที่ลดลง ทำให้มูลค่าการนำเข้าไตรมาส 1/62 หดตัวเฉลี่ย -1.2% ทั้งนี้ ดุลการค้าในเดือนนี้ยังคงเกินดุลจำนวน 2.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และทำให้ดุลการค้าในไตรมาส 1/62 ยังคงเกินดุลจำนวน 2.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในส่วนเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทานในเดือน มี.ค.62 ส่งสัญญาณชะลอตัว โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจภาคการเกษตรสะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร หดตัว -1.9% โดยปัจจัยหลักในการหดตัวมาจากการหดตัวของสินค้าเกษตรในหมวดพืชผลสำคัญที่ อย่างไรก็ ตามสินค้าหมวดปศุสัตว์และหมวดประมงยังคงขยายตัว ทำให้ไตรมาส 1/62 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรยังคงขยายตัวที่ 0.4%

สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยมีจำนวน 3.47 ล้านคน หดตัวเล็กน้อย -0.7% ซึ่งเป็นผลจากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่หดตัว อย่างไรก็ดี นักท่องเที่ยวประเทศอื่นยังคงขยายตัวได้ดี ได้แก่ นักท่องเที่ยวอินเดีย ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ทำให้ในไตรมาส 1/62 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 10.8 ล้านคน ขยายตัว 1.8%

รายได้จากการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศในเดือน มี.ค.62 มีมูลค่าเท่ากับ 184,451 ล้านบาท หดตัว -1.3% โดยเป็นการหดตัวของรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวสวีเดน ขณะที่รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ขยายตัวได้ดี อาทิ รายได้ของนักท่องเที่ยวอินเดีย ญี่ปุ่น และจีน ทำให้ในไตรมาส 1/62 มีรายได้จากการท่องเที่ยวรวมทั้งสิ้น 573,798 ล้านบาท ขยายตัว 0.4%

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือน มี.ค.62 อยู่ที่ระดับ 115.7 หดตัวที่ -2.5% ทำให้ไตรมาส 1/62 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 109.88 หดตัว -1.1% อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) อยู่ที่ระดับ 96.3 ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้า

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศในเดือน มี.ค.62 และไตรมาสที่ 1/62 ยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1.2% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.6% ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ณ ไตรมาส 1/62 อยู่ที่ 0.7% และ 0.6% ตามลำดับ

อัตราการว่างงานในเดือน มี.ค.อยู่ที่ 0.9% ของกำลังแรงงานทั้งหมด ทำให้อัตราการว่างงานในไตรมาส 1/62 ลดลงไปอยู่ที่ 0.9% สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อต่อผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) ณ สิ้นเดือน ก.พ.62 อยู่ที่ 41.9% ต่อ GDP ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งเพดานไว้ไม่เกิน 60% ต่อ GDP

ขณะที่เสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือน มี.ค.62 อยู่ในระดับสูงที่จำนวน 212.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ