(เพิ่มเติม) ธปท.เผยเศรษฐกิจไทย มี.ค.โตชะลอลงตามการส่งออก-ท่องเที่ยว-บริโภคภาคเอกชนหดตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 30, 2019 14:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน มี.ค.62 ขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อน โดยอุปสงค์ต่างประเทศหดตัวทั้งการส่งออกสินค้าและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ด้านอุปสงค์ในประเทศ เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวตามการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนที่หดตัว ขณะที่การใช้จ่ายในหมวดอื่นยังขยายตัวดี การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวเล็กน้อยจากรายจ่ายประจำที่เร่งเบิกจ่ายไปในช่วงก่อนหน้าและเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนหดตัวจากทั้งการลงทุนในหมวดก่อสร้าง และหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เร่งขึ้นตามราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกและราคาอาหารสด สำหรับอัตราว่างงานที่ปรับฤดูกาลทรงตัวจากเดือนก่อน ดุลบัญชีเดินสะพัดทรงตัวในระดับสูง ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดทุนสุทธิ

ทั้งนี้ ในเดือนมี.ค.62 มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัว 4.2% จากระยะเดียวกันปีก่อน และหากหักทองคำ มูลค่าการส่งออกจะหดตัวใกล้เคียงกันที่ 4.3% เนื่องจากอุปสงค์ในตลาดโลกชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ผลของมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังชะลอลงต่อเนื่องประกอบกับผลของฐานสูงในบางสินค้า โดยการส่งออกในหลายหมวดสินค้ายังคงหดตัว ได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าที่มูลค่าเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันที่หดตัวทั้งราคาและปริมาณ และเครื่องใช้ไฟฟ้า

อย่างไรก็ดี การส่งออกในบางหมวดสินค้ายังขยายตัวได้ อาทิ ยานยนต์และชิ้นส่วน สินค้าเกษตรแปรรูป และผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ นอกจากนี้ สินค้าเกษตรกลับมาขยายตัวตามการส่งออกผลไม้และยางพารา เป็นสำคัญ โดยยางพาราขยายตัวได้เป็นครั้งแรกในรอบ 16 เดือน ตามปริมาณการส่งออกจากผลของฐานต่ำในปีก่อน และอุปสงค์จากจีนที่มีทิศทางดีขึ้นบ้าง

ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศหดตัวเล็กน้อยที่ 0.7% จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยจำนวนนักท่องเที่ยวยุโรปหดตัวจากการเหลื่อมวันของเทศกาลอีสเตอร์ที่ในปีนี้อยู่กลางเดือน เม.ย.ส่งผลให้นักท่องเที่ยวชะลอการเดินทางในเดือนนี้ และจำนวนนักท่องเที่ยวจีนหดตัวจากผลของฐานสูงในปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงหลังจากการปราบปรามทัวร์ผิดกฎหมายคลี่คลาย

อย่างไรก็ตาม จำนวนนักท่องเที่ยวจากตลาดหลักอื่นๆ ยังขยายตัว ได้แก่ นักท่องเที่ยวอินเดีย มาเลเซีย และญี่ปุ่น ทั้งนี้ เมื่อขจัดผลของฤดูกาลแล้ว จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 0.8% จากเดือนก่อน ตามจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเป็นสำคัญ

ส่วนเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวชะลอลงจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนหดตัวตามปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่หดตัวเนื่องจากผลของฐานสูงจากระยะเดียวกันปีก่อน ประกอบกับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับเร่งขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่การใช้จ่ายใน หมวดอื่นๆ ยังขยายตัวต่อเนื่อง

สำหรับปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อโดยรวมทรงตัว แม้รายได้ลูกจ้างนอกภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่รายได้ในภาคเกษตรกรรมกลับมาหดตัวจากทั้งด้านราคาและผลผลิต ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับลดลงครั้งแรกในรอบ 3 เดือน ทั้งนี้ การบริโภคภาคเอกชนที่ชะลอลงและการส่งออกสินค้าที่หดตัวส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวสอดคล้องกัน

ด้านการใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวเล็กน้อยจากระยะเดียวกันปีก่อน ตามรายจ่ายประจำที่หดตัวจากการเหลื่อมเดือนในการเบิกจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรไปในช่วงก่อนหน้า ขณะที่รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการยังขยายตัวต่อเนื่อง ด้านรายจ่ายลงทุนขยายตัวตามการเบิกจ่ายของกรมทางหลวง กรมชลประทานและสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นสำคัญ

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน ทั้งจากเครื่องชี้การลงทุนในหมวดก่อสร้างที่หดตัว โดยพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างทั่วประเทศยังหดตัวต่อเนื่องในเกือบทุกหมวด ยกเว้นพื้นที่เพื่อการอุตสาหกรรม ขณะที่ยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างหดตัวหลังจากที่เร่งไปมากในช่วงก่อนหน้า สอดคล้องกับทิศทางอุปทานอสังหาริมทรัพย์เปิดขายใหม่ที่ชะลอลง และเครื่องชี้การลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่หดตัวตามยอดจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี การนำเข้าสินค้าทุนภาคเอกชนกลับมาขยายตัวในหลายหมวดสินค้า

มูลค่าการนำเข้าสินค้าหดตัวที่ 5.8% จากระยะเดียวกันปีก่อน และหากหักทองคำ จะทำให้มูลค่าการนำเข้าหดตัวเล็กน้อยที่ 0.4% โดยหดตัวในทุกหมวดหลัก โดยเฉพาะหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่หดตัวตามการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สอดคล้องกับการส่งออกในหมวดดังกล่าว และหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคที่หดตัวตามการนำเข้าสินค้าไม่คงทน โดยเฉพาะปลาและเนื้อสัตว์อื่นๆ อย่างไรก็ดี การนำเข้าหมวดสินค้าทุนที่ไม่รวมเครื่องบินและแท่นขุดเจาะ ขยายตัวตามการนำเข้าในหลายหมวด โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือ และเครื่องจักรที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ นอกจากนี้ การนำเข้าหมวดยานยนต์และชิ้นส่วนขยายตัว สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ขยายตัวดี

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1.24% เร่งขึ้นจาก 0.73% ในเดือนก่อน ตามราคาหมวดพลังงานที่กลับมาขยายตัวจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้น และราคาหมวดอาหารสดที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอลงจากเดือนก่อน ตามการปรับลดลงของค่าเช่าบ้านและราคาเครื่องนุ่งห่มเป็นสำคัญ สำหรับอัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลทรงตัวจากเดือนก่อน ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดทรงตัวในระดับสูง ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลจากทั้งด้านสินทรัพย์และหนี้สิน

ธปท.ยังระบุว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/62 ขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสก่อน โดยการส่งออกหดตัวในหลายหมวดจากอุปสงค์ในตลาดโลกที่ชะลอลง ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวตาม ขณะที่ภาคการทอ่งเที่ยวขยายตัวชะลอลง ส่วนหนึ่งผลจากฐานที่สูงในปีก่อน โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวจีน อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ในประเทศโดยรวมยังขยายตัวดี โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวในทุกหมวดการใช้จ่าย และการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวจากรายจ่ายประจำ ส่วนเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนหดตัวเล็กน้อย

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงตามอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ชะลอลงและราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่หดตัว อัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลแล้วลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน จากทั้งดุลการค้า และดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิจากด้านสินทรัพย์เป็นสำคัญ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ