ศูนย์วิจัยกสิกรฯ เผยดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนไทย เม.ย.ลดลงตามความกังวลรอบด้าน มองครึ่งปีหลังยังไม่แน่นอน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 13, 2019 15:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่าดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนไทย (KR-ECI) และดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (เดือน พ.ค.-ก.ค.62) ที่ทำการสำรวจในเดือน เม.ย.62 ปรับตัวลดลง จากความกังวลของครัวเรือนต่อภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของตนเองในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นระดับราคาสินค้าและบริการภายในประเทศ ค่าใช้จ่ายและภาระหนี้สิน รวมไปถึงรายได้และการมีงานทำของตนเอง

ทั้งนี้ KR-ECI ในเดือนเม.ย. 2562 ปรับตัวลดลงจากเดิมที่ระดับ 45.9 ในเดือน มี.ค.62 มาอยู่ที่ระดับ 43.5 เนื่องจากครัวเรือนมีความกังวลเพิ่มขึ้นต่อภาวะเศรษฐกิจของตนเองในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรายได้และการมีงานทำ สถานการณ์ราคาสินค้าและบริการภายในประเทศ ตลอดจนค่าใช้จ่ายและภาระหนี้สินครัวเรือนนอกภาคเกษตรบางส่วนกังวลเรื่องการมีงานทำ ขณะที่ครัวเรือนในภาคเกษตรบางส่วนกังวลเรื่องรายได้ที่ลดลง เนื่องจากเข้าสู่ช่วงการปิดหน้ายางพาราและหมดช่วงฤดูทำนา ทำให้ไม่มีปริมาณผลผลิตให้เก็บเกี่ยว ส่งผลให้ครัวเรือนเกษตรบางส่วนมีรายได้ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า

ในขณะที่ครัวเรือนนอกภาคเกษตรบางส่วนมีความกังวลเพิ่มขึ้นต่อประเด็นเรื่องการมีงานทำ จากการสำรวจภาวะการครองชีพของครัวเรือนในเดือน เม.ย.62 ต่อประเด็นเรื่องสถานการณ์การจ้างงานในองค์กรหรือหน่วยงานที่ครัวเรือนสังกัดอยู่ พบสัญญาณการชะลอรับพนักงานใหม่และการเลิกจ้างเพิ่มขึ้นจากช่วงเดือน ม.ค.61 ที่อยู่ที่ 10.9% และ 1.9% มาอยู่ที่ 18.8% และ 2.8% ตามลำดับ สอดคล้องไปกับจำนวนผู้ว่างงานที่ในเดือน เม.ย.62 อยู่ที่ 364,000 คน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือน มี.ค.62 ที่อยู่ที่ 346,500 คน

ค่าใช้จ่ายและภาระหนี้สินของครัวเรือนเพิ่มขึ้นในเดือน เม.ย.62 โดยหลักๆ แล้วเป็นผลของปัจจัยฤดูกาลที่ทำให้ครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายในรายการพิเศษช่วงเทศกาลสงกรานต์ เช่น ท่องเที่ยว กลับภูมิลำเนา เป็นต้น ค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นตามการใช้ไฟฟ้าที่มากขึ้นในช่วงฤดูร้อน ราคาสินค้าและบริการที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นทำให้ครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น รวมไปถึงการชำระค่าเล่าเรียนบุตรหลานที่ทางโรงเรียนทยอยเรียกเก็บก่อนเปิดปีการศึกษาใหม่ในช่วงเดือน พ.ค.62 ซึ่งส่งผลให้ผู้ปกครองบางส่วนมีการกู้ยืม จำนำ หรือกดเงินสดจากบัตรกดเงินสดเพิ่มขึ้นเพื่อนำมาใช้จ่ายเกี่ยวกับบุตรหลาน

นอกจากนี้ ครัวเรือนบางส่วนยังมีการขอสินเชื่อใหม่เพื่อซื้อบ้าน รถยนต์ หรือเพื่อการลงทุนประกอบธุรกิจเพิ่มขึ้นในเดือน เม.ย.62 อย่างไรก็ดี จากที่กระทรวงการคลังออกมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองโดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 30 เม.ย. จนถึง 31 ธ.ค.62 นั้น ก็น่าจะช่วยหนุนให้มีการขอสินเชื่อใหม่เพื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือน พ.ค.62 เป็นต้นไป ซึ่งทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยจะติดตามประเด็นนี้อย่างต่อเนื่อง

ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากระดับ 47.0 ในการสำรวจช่วงเดือนมี.ค.62 มาอยู่ที่ระดับ 45.7 ในการสำรวจช่วงเดือน เม.ย.62 สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลของครัวเรือนต่อภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของตนเองในช่วง 3 เดือนข้างหน้า (เดือนพ.ค.-ก.ค.62) ยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องค่าใช้จ่าย (ไม่รวมหนี้สิน) และระดับราคาสินค้าและบริการภายในประเทศ

ทั้งนี้ ภาครัฐจึงได้ออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจในช่วงกลางปี 62 ซึ่งประกอบไปด้วยมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพในครัวเรือนหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้พิการ รวมถึงกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และมาตรการเกี่ยวกับภาษีเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของครัวเรือน เช่น มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมสินค้าท้องถิ่นไทย มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทั่วประเทศไทย หรือมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง เป็นต้น นอกจากนี้ ภาครัฐยังออกมาตรการลดภาระค่าธรรมเนียมสำหรับการโอนกรรมสิทธ์และการจดจำนองที่อยู่อาศัยสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ซึ่งมาตรการช่วยเหลือเหล่านี้ก็น่าจะเป็นประโยชน์และบรรเทาภาระค่าครองชีพของครัวเรือนบางส่วน โดยเฉพาะครัวเรือนผู้มีรายได้น้อย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 62 ยังเผชิญความไม่แน่นอนอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจจะลากยาว ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยกดดันรายได้เกษตรกรและราคาอาหารสดภายในประเทศ อีกทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจและการค้าโลกที่อาจจะชะลอตัวมากขึ้นหลังสหรัฐฯ ประกาศปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน (มูลค่านำเข้าสินค้า 200,000 ล้านดอลลาร์ฯ) จาก 10% มาเป็น 25% เมื่อวันที่ 10 พ.ค.62 ซึ่งก็น่าจะส่งผลต่อรายได้และกำไรของผู้ประกอบการที่ค้าขายกับต่างประเทศ และอาจจะส่งผลต่อเนื่องมายังการจ้างงานภายในประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ