ศูนย์วิจัยกสิกรฯ เล็งทบทวนประมาณการส่งออกปี 62 หลังความท้าทายหลายประการรุมเร้า ส่อหลุดกรอบ 2.5-3.5%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 22, 2019 18:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย อยู่ในระหว่างการทบทวนประมาณการส่งออกสินค้าไทยในปี 2562 โดยในเบื้องต้นประเมินว่า การส่งออกทั้งปี 2562 จะหลุดกรอบล่างของประมาณการปัจจุบันที่ 2.5-3.5%

พร้อมประเมินทิศทางการส่งออกสินค้าไทยในช่วง 8 เดือนที่เหลือ (พ.ค.-ธ.ค.) ของปี 2562 ว่ายังเผชิญความท้าทายอยู่อีกหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวเร็วกว่าที่คาด, แนวโน้มราคาน้ำมันดิบโลกที่ผันผวน, วัฏจักรขาลงของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์, ความเสี่ยงที่ไทยจะอยู่ในบัญชีรายชื่อประเทศที่ถูกติดตาม (Monitoring List) ในรายงานเรื่องการแทรกแซงค่าเงินของทางการสหรัฐฯ รวมไปถึงประเด็นเรื่องข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ปะทุขึ้นมาอีกระลอก ซึ่งส่งผลให้บรรยากาศการค้าโลกตึงเครียดมากขึ้น และเพิ่มเติมความเสี่ยงให้กับภาคการส่งออกสินค้าไทยในช่วงที่เหลือของ ปี 2562

ทั้งนี้ หากจะทำให้อัตราการขยายตัวของการส่งออกสินค้าไทยอยู่ที่ 3.2% มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยเฉลี่ยในช่วง 8 เดือนที่เหลือของปี 2562 จะต้องอยู่ที่ 22,500 ล้านดอลลาร์ฯ ต่อเดือน ซึ่งมากกว่ามูลค่าส่งออกเฉลี่ยในช่วง 4 เดือนแรกที่อยู่ที่ 20,136 ล้านดอลลาร์ฯ ประมาณ 10% จึงนับว่าเป็นความท้าทายอย่างมาก ในภาวะที่การส่งออกสินค้าของไทยเผชิญความเสี่ยงดังที่กล่าวมาข้างต้น

สำหรับการส่งออกสินค้าของไทยในเดือนเม.ย.2562 มีมูลค่าอยู่ที่ 18,555.6 ล้านดอลลาร์ฯ หดตัว 2.57% เมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกสินค้าไทยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2562 (ม.ค.-เม.ย.) หดตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงไตรมาสแรกมาอยู่ที่ -1.86% ซึ่งการส่งออกสินค้าไทยที่หดตัวในเดือนเม.ย.62 เป็นผลมาจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าไทยไปจีน (หดตัว 5.01% ในเดือนเม.ย.62 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6) และสหภาพยุโรป (หดตัว 3.53% ในเดือนเม.ย.62 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7) ประกอบกับมีผลของฐานที่สูงในปีก่อนจากการเร่งส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์(อานิสงส์จากความกังวลของผู้ผลิตต่อประเด็นความไม่แน่นอนในเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในขณะนั้น) รวมถึงราคาข้าวและมันสำปะหลังในตลาดโลก ปรับตัวสูงขึ้นมากในช่วงเดือนเม.ย.61


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ