"สมคิด" มอบนโยบายสภาพัฒน์ เร่งขับเคลื่อนพัฒนาขีดความสามารถแข่งขันของประเทศ หวังอันดับขยับดีขึ้นจากปีนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 30, 2019 13:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางไปมอบนโยบายให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ขับเคลื่อนการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้ขยับดีขึ้นกว่าอันดับที่ 20 ในปี 63 หลังล่าสุด IMD ได้จัดอันดับศักยภาพในการแข่งขันประเทศไทยดีขึ้นมาอยู่ที่อันดับที่ 25 ในปีนี้ จากอันดับที่ 30 ในปีก่อน

ผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของ IMD ประจำปี 2562 นั้น ประเทศไทยปรับตัวดีขึ้นใน 3 ด้าน ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพของภาครัฐ และโครงสร้างพื้นฐาน รัฐบาลจึงต้องการให้รักษาระดับความสามารถในการแข่งขันให้ดีขึ้น โดยไทยสามารถแซงเกาหลีใต้ซึ่งอยู่อันดับ 26 แต่ถึงแม้ไทยจะแซงหลายประเทศจากผล GDP สูงขึ้น แต่ยอมรับว่าทุกประเทศมีปัญหาการส่งออกเหมือนกันจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

"ตอนที่เข้ามาเจอปัญหา ICAO โดนใบแดงเรื่องการบิน เรียกว่าไม่อยู่ในสถานะที่จะให้บริการด้านการบินได้ และปัญหา IUU ใบเหลืองที่หากแก้ไขไม่ได้ จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกด้านสินค้าประมง ซึ่งเป็นปัญหารุนแรงมาก แต่สามารถแก้ปัญหาได้จนต่างชาติให้การยอมรับ ดังนั้นจึงคาดหวังว่าหากเร่งรัดปฏิรูปหลายด้าน ความสามารถในการแข่งขัน ต้องดีกว่าอันดับที่ 20 ในปี 63" นายสมคิด กล่าว

พร้อมระบุว่า ต้องใช้โอกาสในขณะนี้ส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชนในช่วงเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว เพราะหากรอหลังจากนี้คงไม่ทัน โดยคาดว่าการลงทุนมีโอกาสขยายตัวจาก 3.9% เพิ่มเป็น 4.5% ขณะที่การลงทุนภาครัฐมีโอกาสไปได้สูงมากจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ภาครัฐ เพื่อมีส่วนผลักดันให้ขีดความสามารถแข่งขันขยับสูงขึ้นได้ และต้องการให้สภาพัฒน์ปรับโครงสร้างขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กว้างมากขึ้น เพื่อส่งเสริมไปยังกลุ่มภาคเกษตรและการท่องเที่ยว เมื่อเร่งแก้ปัญหาทุกด้านครอบคลุม ยังเชื่อมั่นว่าไทยจะแข่งขันกับสิงคโปร์ได้หลายด้าน

นายสมคิด กล่าวเพิ่มเติมว่า สภาพัฒน์ต้องรีบนัดประชุมหารือกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อให้เร่งพัฒนาในเรื่อง Buniness Efficiency โดยเฉพาะด้าน Productivity&Efficiency และ Attitude&Value เพื่อไม่ให้เป็นตัวถ่วงดัชนีฯ โดยให้ช่วยกันประคับประคอง เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอีกหลายด้าน ส่งเสริมการค้าชายแดน ผลักดันการท่องเที่ยว เมื่อรัฐบาลได้ลงทุนรถไฟความเร็วสูง มอเตอร์เวย์ เส้นทางคมนาคมครอบคลุม จะทำให้การเดินทางของคนไทยและต่างชาติ ไปยังแหล่งท่องเที่ยวปลายทางในเมืองรองและเมืองหลักได้คล่องตัวมากขึ้น

พร้อมทั้งขอให้ สภาพัฒน์เป็นเสาหลักสำคัญในการดูแลเศรษฐกิจ โดยต้องหาทางส่งเสริม เพิ่มอำนาจซื้อให้กับรายย่อยในต่างจังหวัด ผ่านการสร้างเศรษฐกิจชุมชน ต้องหาทางส่งเสริมให้ชาวบ้านและชุมชนเข้มแข็งมากขึ้น เป็นเป้าหมายหลักของรัฐบาลที่ต้องการให้เศรษฐกิจชุมชนเป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ รัฐบาลยังต้องการเร่งรัดพัฒนาบุคลากรคุณภาพ รองรับการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC ) ด้วยการดึงภาคเอกชนเข้ามาช่วยเหลือในการพัฒนาบุคคลากรใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย สร้างรายได้ต่อคน 23,840 บาทต่อเดือน กำชับกระทรวงต่างๆ เสนอของบประมาณลงทุนต้องคัดเลือกให้สอดคล้องกับยุทศาสตร์ชาติ ต้องพิจารณาตรวจสอบการลงทุนให้รอบคอบ เพื่อคานอำนาจการใช้งบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพ

สำหรับการติดตั้งเครือข่ายอินเตอร์ประชารัฐในทุกชุมชน ต้องผลักดันให้สุดทางเพื่อให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ รองรับการค้าขาย ค้นคว้าหาความรู้ การใช้อินเตอร์เน็ตอำนวยความสะดวกทุกด้าน การผลักดันใช้อินเตอร์เน็ตมีความสำคัญมาก เพราะการเปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจของไทยไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลนับเป็นเรื่องสำคัญมาก เนื่องจากหลายประเทศปรับเปลี่ยนไปมากแล้ว โดยจีนได้ประกาศเปลี่ยนประเทศไปสู่ 5G ดังนั้นไทยจึงต้องเร่งรัดขับเคลื่อนทุกด้านในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล โดยเฉพาะเครือข่าย 5G เพื่อรองรับเศรษฐกิจยุคใหม่แข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน

ด้านนายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สภาพัฒน์ กล่าวว่า สำหรับการปรับประสิทธิภาพของภาครัฐดีขึ้นถึง 4 อันดับ เมื่อได้เร่งแก้ไขปรับกฎระเบียบให้ทันสมัยคล่องตัว แต่ต้องเดินหน้าแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายอีกหลายฉบับเพื่ออำนวยความสะดวกกับธุรกิจ และส่งเสริมการใช้ดิจิทัลรองรับให้บริการให้รวดเร็วมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการแก้ปัญหาปัจจัยพื้นฐานเชิงโครงสร้างในทุกด้าน และกำลังผลักดันต่อไปให้เกิดผลอย่างต่อเนื่องและในวงที่กว้างขวางมากขึ้น

สำหรับการแก้ปัญหาความยากจน เอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมแก้ปัญหาได้มากขึ้น เกิดความร่วมแบบประชารัฐได้มากขึ้น เมื่อทุกส่วนร่วมกันจะทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนคืบหน้าไปมาก รวมทั้งการสร้างเศรษฐกิจภูมิภาคให้มีมูลค่าเพิ่ม พัฒนาสินค้า สร้างมูลค่าทางการตลาด ต้องสื่อสารกับทุกหน่วยงานไปสู่ภาคปฏิบัติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ