ครม.อนุมัติเปิดใช้เส้นทางการขนส่งระหว่างประเทศและจุดข้ามแดนใหม่เพิ่มเติม เพิ่มความสะดวกการขนส่งในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 18, 2019 15:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติการจัดทำและลงนามร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเปิดเส้นทางการขนส่งระหว่างประเทศและจุดข้ามแดนเพิ่มเติม ภายใต้พิธีสาร 1 ของความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (The Draft Memorandum of Understanding on the Opening of Additional Routes and Border Crossing Under Protocol 1 of the CBTA)

อนึ่ง ในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสของคณะกรรมการอำนวยความสะดวกการขนส่งแห่งชาติ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม2559 ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank ADB) ได้มีการเสนอขอให้ประเทศสมาชิกแจ้งข้อเสนอแก้ไขเพิ่มเติมพิธีสาร 1 (การกำหนดเส้นทางการขนส่งระหว่างประเทศ จุดเข้าและออกประเทศ) ของความตกลงฯ ผ่านร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเปิดเส้นทางการขนส่งระหว่างประเทศและจุดข้ามแดนเพิ่มเติม ภายใต้พิธีสาร 1 ของความตกลงฯ เพื่อปรับปรุงและเพิ่มเส้นทางการขนส่งระหว่างประเทศให้มีความทันสมัยและครอบคลุมกับความต้องการของผู้ประกอบการขนส่งระหว่างประเทศของประเทศสมาชิกกลุ่มแม่น้ำโขง โดยจะเปิดใช้เส้นทางการขนส่งระหว่างประเทศและจุดข้ามแดนใหม่ จำนวน 11 เส้นทาง 13 จุดข้ามแดน ซึ่งมีเส้นทางและจุดข้ามแดนที่กระทบต่อประเทศไทยโดยตรง 5 เส้นทาง 6 จุดผ่านแดน (เป็นจุดผ่านแดนใหม่ จำนวน 3 จุด ได้แก่ พุน้ำร้อน หนองเอี่ยน และนครพนม) ดังนี้

1          มัณฑะเลย์ – แม่สอด                                        แม่สอด
2          นาบูเล – กรุงเทพมหานคร                                  พุน้ำร้อน
3          แหลมฉบัง – สะแรอัมเปิล (ศรีโสภณ)            อรัญประเทศและหนองเอี่ยน
4          กรุงเทพมหานคร – ฮานอย                                   นครพนม
5          อุบลราชธานี – แหลมฉบังหรือกรุงเทพมหานคร          ช่องเม็ก
          ทั้งนี้ ภายหลังจากที่มีการจัดทำบันทึกความเข้าใจฯ จะทำให้การกำหนดเส้นทางการขนส่งระหว่างประเทศตาม พิธีสาร 1 ดังกล่าว มีจำนวนเส้นทางเพิ่มขึ้นเป็น 24 เส้นทาง โดยเป็นเส้นทางที่มีผลกระทบต่อประเทศไทย รวมทั้งสิ้น 12 เส้นทาง
          โดยการเปิดเส้นทางการขนส่งระหว่างประเทศและจุดข้ามแดนเพิ่มเติมภายใต้พิธีสาร 1 ดังกล่าว ถือเป็นการส่งเสริมการเคลื่อนย้ายคน (ผ่านรถโดยสารแบบไม่ประจำทางเท่านั้น) และสินค้า รวมทั้งช่วยอำนวยความสะดวกในการขนส่งข้ามพรมแดนระหว่างประเทศสมาชิกลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการค้าและการลงทุนในระดับภูมิภาค อีกทั้งยังสอดคล้องกับนโยบายด้านโลจิสติกส์ของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของเส้นทางใหม่ กรุงเทพมหานคร–ฮานอย ที่จะมีการกำหนดจุดข้ามแดนเพิ่มที่นครพนม เนื่องจากจะช่วยทำให้การเชื่อมต่อกับโครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม ของกรมการขนส่งทางบกซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2562 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและส่งเสริมให้เกิดห่วงโซ่อุปทานตามแนวระเบียงเศรษฐกิจนครพนมต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ