(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย CPI มิ.ย.ขยายตัว 0.87% CORE CPI ขยายตัว 0.48%, ปรับลดคาดการณ์ปีนี้เหลือ 1% จากเดิม 1.2%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 1, 2019 12:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อในเดือน มิ.ย.62 อยู่ที่ 102.94 ขยายตัว 0.87% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (จากตลาดคาดราว 1%) แต่ลดลง -0.36% จากเดือน พ.ค.62 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.) ขยายตัวเฉลี่ย 0.92%

ทั้งนี้ ปัจจัยบวกที่หนุนให้เงินเฟ้อสูงขึ้น คือ สินค้ากลุ่มอาหารสด โดยเฉพาะผักและผลไม้, ข้าวสาร และเนื้อสุกร ส่วนปัจจัยลบที่กดดันให้เงินเฟ้อชะลอตัว คือ สินค้ากลุ่มพลังงานที่หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ของปี ตามราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศที่ปรับลดลงตามสถานการณ์ในตลาดโลก จากผลกระทบความไม่สงบในตะวันออกกลาง ประกอบกับเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (CORE CPI) เดือน มิ.ย.62 อยู่ที่ 102.55 ขยายตัว 0.48% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 0.48% จากเดือนพ.ค.62 ส่งผลให้ให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.) ขยายตัวเฉลี่ย 0.58%

ขณะที่ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์อยู่ที่ 105.20 เพิ่มขึ้น 3.12% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.13% จากเดือน พ.ค.62 ส่วนดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม อยู่ที่ 101.68 หดตัว -0.40% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และหดตัว -0.64% จากเดือนพ.ค.62

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับลดเงินเฟ้อปี 62 เหลือโต 1% ในกรอบ 0.7-1.3% จากเดิม 1.2% กรอบ 0.7-1.7% เนื่องมาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงมีแนวโน้มหดตัวจากแรงกดดันทางการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคต่างๆ

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ยืนยันว่า ประเทศไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด แม้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ของปีนี้

สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่า ไตรมาส 3/62 จะอยู่ในระดับ 1% ส่วนไตรมาส 4/62 คาดว่าจะปรับตัวมาที่ 1.2% โดยมองว่าราคาพลังงานยังมีแนวโน้มลดลงหากไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อต้นทุนการผลิตสินค้า และส่งต่อมายังผู้บริโภค โดยเชื่อว่าทั้งปีนี้ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยจะอยู่ในระดับกว่า 60 ดอลลาร์/บาร์เรล

ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปี 62 ลงเหลือโต 1% (ในกรอบ 0.7-1.3%) จากเดิมที่ 1.2% (ในกรอบ 0.7-1.7%) โดยมาจากสมมติฐานที่สำคัญ 3 ตัว คือ 1. อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ในปีนี้คาดว่าจะเติบโต 3.3-3.8% 2. ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก เฉลี่ยที่ระดับ 60-70 ดอลลาร์/บาร์เรล และ 3. อัตราแลกเปลี่ยนอยู่เฉลี่ยที่ระดับ 31.00-32.00 ดอลลาร์/บาร์เรล

ทั้งนี้ การปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อดังกล่าวเพื่อให้สะท้อนกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยมีปัจจัยสำคัญจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งมีแนวโน้มหดตัวจากแรงกดดันของบริบททางการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคต่างๆ รวมทั้งปริมาณน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศปรับตัวลดลง

นอกจากนี้ เงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าและบริการจากต่างประเทศลดลง ประกอบกับการส่งออกที่มีแนวโน้มชะลอตัว แสดงถึงการลดลงของแรงส่งด้านอุปสงค์จากต่างประเทศ ส่งผลให้แรงกดดันในการปรับขึ้นของราคาสินค้าและบริการมีลดลง และส่งผลดีต่อเนื่องไปยังค่าจ้างของแรงงานในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก

ขณะที่อุปสงค์ในประเทศยังเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย โดยจะเห็นได้จากเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจทั้งด้านอุปทาน และอุปสงค์ เช่น ราคาสินค้าเกษตรสำคัญ (ข้าวเปลือก ยางพารา ผลไม้), รายได้เกษตรกร และอัตราค่าจ้างเฉลี่ยมีแนวโน้มดีขึ้น นอกจากนี้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีแนวโน้มลดลง และเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่า จะส่งผลให้ค่าครองชีพของภาคครัวเรือนชะลอการเพิ่มขึ้น ตลอดจนต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบของภาคธุรกิจลดลง ส่งผลดีต่อเนื่องไปยังการบริโภและการลงทุนภาคเอกชนให้มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีในปีนี้

"คาดว่าปัจจัยเหล่านี้ จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปี 62 ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ใกล้เคียงกับปี 61 และจะส่งผลให้เงินเฟ้อของประเทศมีเสถียรภาพ อยู่ในกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินระยะปานกลางที่รัฐบาลกำหนดไว้...ปัจจัยหลักๆ ที่มีผลต่อเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีหลังนี้คือ ราคาน้ำมัน ซึ่งเมื่อเทียบกับปี 61 แล้วน่าจะลดลง" น.ส.พิมพ์ชนก ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ