ผู้ว่าธปท. ยอมรับบาทกลับมาอ่อนค่าทันที หลังใช้มาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 17, 2019 12:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า จากภาวะเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ธปท.ได้มีการปรับปรุงมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาทและเพิ่มความเข้มงวดในการรายงานข้อมูลการลงทุนในตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งเป็นเครื่องมือในการช่วยลดแรงกระแทกที่จะเข้ามาที่อัตราแลกเปลี่ยน ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าปัจจัยสำคัญที่เป็นแรงกดดันต่อค่าเงินบาทมาจากปัจจัยพื้นฐานในประเทศที่ยังมีความแข็งแกร่งทั้งจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง และปัจจัยต่างประเทศจากการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคากลางสหรัฐ (เฟด) ที่มีแนวโน้มจะลดอัตราดอกเบี้ย จึงทำให้เงินบาทแข็งค่ามากกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค

"เราต้องการลดขนาดท่อเวลาที่จะเข้ามาปะทะให้เล็กลง จึงได้ออกมาตรการดังกล่าวเพื่อช่วยลดแรงกระแทกของค่าเงิน...การที่เงินไหลเข้าออกอย่างรวดเร็วในระยะเวลา 2-3 วัน มากระแทกให้บาทแข็งค่าเร็ว แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป ตลาดเกิดใหม่ค่าเงินอ่อนค่า แต่บาทเราไม่ได้อ่อนค่าลงเร็วเหมือนประเทศอื่นๆ เพราะเรามีลมใต้ปีกช่วยพยุงไว้ จากที่เราเป็น safe haven" ผู้ว่า ธปท.กล่าวในงานประชุมนักวิเคราะห์

ผู้ว่าธปท. กล่าวต่อว่า ยอมรับว่ามาตรการดังกล่าว เป็นการส่งสัญญาณที่แรง เพื่อให้นักลงทุนต่างประเทศระมัดระวังมากขึ้นในการนำเข้าเข้ามาพักในประเทศไทย โดยค่าเงินบาทกลับมาอ่อนค่าทันทีในวันแรกที่ออกมาตรการดังกล่าว และหวังว่าจะเกิดผลต่อเนื่องในระยะยาว ช่วยลดแรงกระแทกเมื่อมีงินไหลเข้า

ด้านนายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวในการประชุมนักวิเคราะห์ (Anylyst Meeting) โดยระบุว่า ในช่วงเดือนเศษที่ผ่านมาเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ปัจจัยสำคัญมาจากต่างประเทศ กล่าวคือ ธนาคารกลางของหลายประเทศหลัก มีการดำเนินนโยบายแบบผ่อนคลายมากขึ้น ซึ่งสนับสนุน sentiment ของประเทศเกิดใหม่ รวมทั้งประเทศไทย ส่งผลให้มีเงินทุนไหลเข้ามากขึ้นในระยะหลัง ส่วนปัจจัยภายใน มาจากดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง, สถานการณ์การเมืองในประเทศมีเสถียรภาพมากขึ้น, นักลงทุนมองเงินบาทในฐานะ reginal safe haven จากปัจจัยพื้นฐานที่ดี รวมทั้งการเพิ่มน้ำหนักหุ้นไทยในดัชนี MSCI และพันธบัตรรัฐบาลไทยในดัชนีของ JP Morgan

ทั้งนี้ ธปท.มีความกังวลและได้เข้าดูแลค่าเงินอย่างใกล้ชิด แต่มองว่ายังมีความเสี่ยงที่ไทยอาจถูกจัดเป็น Currency Manipulator เนื่องจากสหรัฐฯ มีการปรับเกณฑ์การประเมินประเทศที่เข้าข่ายแทรกแซงค่าเงินให้เข้มงวดขึ้น ซึ่งล่าสุด ธปท.ได้ปรับปรุงมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาทและเพิ่มความเข้มงวดในการรายงานข้อมูลการลงทุนในตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติ ด้วยการลดยอดคงค้างบัญชีเงินฝากสกุลบาทของผู้ที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ จากเดิม 300 ล้านบาท เป็น 200 ล้านบาทต่อราย นอกจากนี้ ยังเพิ่มความเข้มงวดการรายงานข้อมูลยอดคงค้างการถือครองตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติ โดยรายงานถึงระดับชื่อผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง

สำหรับภาวะอัตราดอกเบี้ยของไทยนั้น กนง.มองว่า ในปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาค การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงอาจไม่ส่งผลมากนัก และมองว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันที่ 1.75% มีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและสอดคล้องกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ