(เพิ่มเติม) สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม มิ.ย.ที่ 100.49 หดตัว 5.54% รับผลการค้าโลกชะลอตัวต่อเนื่อง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 30, 2019 12:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน มิ.ย.62 อยู่ที่ 100.49 หดตัว 5.54% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รับผลกระทบจากแนวโน้มเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ชะลอตัวต่อเนื่อง และส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในไตรมาส 2/62 หดตัวลง 2.64% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบ ได้แก่ รถยนต์และเครื่องยนต์ ผลิตภัณฑ์ยาง น้ำมันปิโตรเลียม ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ และเครื่องประดับแท้ จากความต้องการในประเทศและคำสั่งซื้อจากตลาดต่างประเทศชะลอตัวลง ยกเว้นน้ำมันปิโตรเลียมที่มีการซ่อมบำรุงโรงกลั่นตามวาระการตรวจซ่อมบำรุงครั้งใหญ่

นายอดิทัต วะสีนนท์ รองผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวว่า ดัชนี MPI เดือน มิ.ย.62 ติดลบมากที่สุดในรอบ 29 เดือนตั้งแต่ปรับฐานเมื่อเดือน ม.ค.59

ขณะที่อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวกต่อ MPI ได้แก่ น้ำมันปาล์ม ขยายตัวเพิ่มขึ้น 44.79% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ ที่ได้มีการลงนามสัญญาซื้อขายน้ำมันปาล์มของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และมาตรการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซล B20 เพิ่มขึ้น

เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 12.64% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากตลาดในประเทศและเนื่องจากสภาพอากาศร้อนจัด รวมถึงตลาดส่งออกได้รับคำสั่งซื้อจากประเทศเวียดนาม สหรัฐและญี่ปุ่น

เภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค ขยายตัวเพิ่มขึ้น 18.05% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการผลิตเต็มกำลังของเครื่องจักรใหม่ของผู้ผลิตตามความต้องที่เพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ โดยมีการเร่งผลิตและส่งมอบตามการประมูลงานในโรงพยาบาล และการขยายตลาดส่งออกได้เพิ่มขึ้น

เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และน้ำดื่ม ขยายตัวเพิ่มขึ้น 7.86% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากน้ำอัดลม น้ำโซดา น้ำชา และน้ำดื่มให้พลังงาน ที่ผู้ผลิตออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ และการปรับขนาดบรรจุภัณฑ์ให้มีความหลากหลายเพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น

เบียร์ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 7.06% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายเพื่อให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค และการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ลดปริมาณแอลกอฮอล์ลง (เบียร์ 0%) เพื่อขยายตลาด รวมถึงการเร่งผลิตสต๊อกสินค้าเพื่อปิดปรับปรุงเครื่องจักรบางส่วนของผู้ผลิต

นายอดิทัต กล่าวถึงแนวโน้มดัชนีในเดือน ก.ค. 62 ยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกยังชะลอตัว ทุกหน่วยงานทุกสำนักออกมาปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก และภาพรวมยังมีความผันผวนด้วย ภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม การมีรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาขับเคลื่อนอย่างเต็มตัวทำให้คาดว่าดัชนีความเชื่อมั่นต่างๆน่าจะเป็นไปในทางที่ดีขึ้น และอีกส่วนคือมาตรการที่รัฐบาลใหม่จะนำมาใช้ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลตระหนักถึงปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญอยู่จึงเชื่อว่าน่าจะนำมาตรการที่เกี่ยวข้องออกมาช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการคลังอาจจะมีแพคเกจต่างๆ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะช่วยเกษตรกรเรื่องภัยแล้งอย่างไร ซึ่งถ้ามีมาตรการเหล่านี้ออกมาก็จะช่วยกระตุ้นในประเทศให้ดียิ่งขึ้น

"ถ้าถามว่าเดือนหน้าจะเป็นอย่างไร..ก็ยังมีความเป็นไปได้ว่าจะติดลบแต่อาจจะไม่ลบมากเหมือนเดือนมิ.ย.62 ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องรอข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากทุกหน่วยงาน เช่น ข้อมูล GDP ภาคอุตสาหกรรมของสภาพัฒน์ที่จะแถลงประมาณสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนสิงหาคมส่วนกรอบทั้งปี เดือนหน้าจะพิจารณาอีกทีว่าจะมีการปรับหรือไม่อย่างไ เพราะตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนเร็ว ต้องติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด"นายอดิทัตกล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบัน สศอ.ยังมองกรอบคาดการณ์ MPI ปี 62 ที่ 1.5-2.5%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ