ธปท.มองส่งออกปีนี้มีโอกาสติดลบ หลังตัวเลขนำเข้ามิ.ย.หดตัวในกลุ่มวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 31, 2019 17:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า การส่งออกของไทยในปีนี้มีโอกาสที่จะติดลบได้ เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าสินค้าในเดือน มิ.ย.62 ติดลบ 9.6% ซึ่งถือว่าลดลงมาก โดยเฉพาะกับการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่จะนำมาใช้ในการผลิตเพื่อส่งออก รวมทั้งมองว่าการส่งออกในเดือน ก.ค.อาจจะยังไม่ปรับตัวดีขึ้นเท่าใดนัก จากในเดือน มิ.ย.62 ที่ติดลบอยู่ 2.1%

"ส่งออกทั้งปี เรามองว่าคงไม่ขยายตัว และมีโอกาสที่ทั้งปีจะติดลบ เพราะดูจากตัวเลขนำเข้าเดือนมิ.ย.แล้วไม่ค่อยดี มันหดตัวค่อนข้างเยอะ ในหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่หดตัวค่อนข้างสูง และส่งออกเดือน ก.ค. ก็คงจะไม่ดีเท่าไร" นายดอนกล่าว

พร้อมมองว่า การส่งออกที่หดตัวลงมีส่วนทำให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้อาจเติบโตไม่ได้ตามเป้าหมาย แต่ทั้งนี้ คงต้องรอติดตามนโยบายจากรัฐบาลว่าจะมีมาตรการออกมาอัดฉีดหรือกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะต่อไปอย่างไร ส่วนมาตรการแก้ปัญหาภัยแล้ง ก็เชื่อว่าจะช่วยเหลือภาคเกษตรได้ส่วนหนึ่ง และเชื่อว่ารัฐบาลคงจะทยอยประกาศมาตรการช่วยเหลือในส่วนอื่นๆ ออกมาเพิ่มเติม

ทั้งนี้ เห็นว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 น่าจะเป็นช่วงที่ต่ำสุดของปีนี้แล้ว ส่วนแนวโน้มภาพรวมมองว่าช่วงครึ่งปีหลังยังมีโอกาสจะเติบโตได้ดีกว่าครึ่งปีแรก เพียงแต่อุปสงค์ในประเทศครึ่งปีหลังอาจจะดีไม่เท่ากับช่วงครึ่งปีแรก แม้จะมีมาตรการออกมาช่วยกระตุ้นก็ตาม

"อุปสงค์ในประเทศอาจจะแย่ลง แม้จะมีมาตรการ ก็ไม่คิดว่าตัวเลขอุปสงค์ในประเทศครึ่งปีหลังจะดีขึ้นกว่าครึ่งปีแรกได้ การบริโภคภาคเอกชนในครึ่งปีหลังจะให้โตถึง 4% เท่ากับครึ่งปีแรกคงเป็นไปได้ยาก เพราะดูทิศทางแล้ว ตัวที่จะช่วยขับเคลื่อนการบริโภคภาคเอกชน เช่น สินค้าคงทน รถยนต์นั้น ครึ่งปีแรกก็ขยายตัวไปแล้วถึง 7% แต่ภาพรวมทั้งปีเรามองไว้ที่ 4% ดังนั้นในครึ่งปีหลังน่าจะเห็นถึงการชะลอตัว" นายดอน กล่าว

สำหรับการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) รอบนี้ ที่ตลาดมองว่ามีแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% นั้น นายดอน มองว่า การดำเนินนโยบายการเงินของไทยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องหรือเป็นไปในทิศทางเดียวกับสหรัฐ แต่จำเป็นต้องสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศเองมากกว่า

"นโยบายการเงินของเรา น่าจะตอบสนองต่อทิศทางเศรษฐกิจมากกว่าที่จะเป็นไปตามดอกเบี้ยของสหรัฐ แต่ กนง.ก็ได้เปิดช่องไว้ว่าถ้าทิศทางเศรษฐกิจไม่ได้เป็นไปตามคาด หรือแย่กว่าที่คาดไว้มากๆ ก็พร้อมจะดำเนินนโยบายที่เหมาะสม" นายดอนระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ