ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย มิ.ย. ปรับลดลงทุกภูมิภาคต่อเนื่อง 4 เดือน เอกชนมองศก.ส่งสัญญาณซึมยาว

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 2, 2019 14:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC CONFIDENCE INDEX) หรือ TCC-CI เดือนมิ.ย.62 ซึ่งเป็นการสำรวจจากหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ รวม 369 ตัวอย่าง ในระหว่างวันที่ 24-29 มิ.ย.62 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เดือนมิ.ย.62 อยู่ที่ระดับ 47.1 ลดลงจากเดือนพ.ค.62 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 47.4 และเป็นการปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ตั้งแต่เดือนมี.ค.62

โดยปัจจัยด้านลบที่มีผลกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่นของหอการค้าไทย ได้แก่ 1.การจัดตั้งรัฐบาลและสถานการณ์ทางการเมืองยังมีความไม่แน่นอน และขาดความเชื่อมั่นต่อภาพลักษณ์ของประเทศ (ในช่วงสำรวจความคิดเห็น ยังไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่) 2.การส่งออกของไทยเดือน พ.ค. ลดลง 5.79% 3.ราคาพืชผลทางการเกษตรยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนไม่สูงมาก 4.ปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น และอาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย 5.เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า ราคาสินค้ายังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ประชาชนเผชิญปัญหาค่าครองชีพ 6.สถานการณ์ภัยแล้ง

อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยบวกที่ส่งผลดีต่อดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ได้แก่ 1.คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.75% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่คาด 2.SET Index ในเดือนมิ.ย. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 110.12 จุด 3.เงินบาทปรับตัวแข็งค่าอย่างต่อเนื่องจากเดือนพ.ค. สะท้อนว่ายังมีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาในไทย 4.ภาคเกษตรมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น เนื่องจากจะเข้าสู่ช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตที่สำคัญของแต่ละจังหวัด 5.เศรษฐกิจโดยรวมปรับดีขึ้น เนื่องจากประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายที่รัฐบาลดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เดือนมิ.ย.62 อยู่ที่ระดับ 48.1 ลดลงจาก 48.9 ในเดือนพ.ค. โดยปัจจัยลบสำคัญ คือ ความกังวลเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลหลังเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร, ปัญหาค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น, การใช้จ่ายของประชาชนลดลง, จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้, เงินบาทแข็งค่าขึ้น แต่ยังมีปัจจัยบวกที่สำคัญ คือ มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลวันหยุด และพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทั้งนี้ภาคเอกชนเสนอแนะให้รัฐบาลเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมการส่งออก, ส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการรายใหม่ให้สามารถตีตลาดสินค้าได้, สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน

ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยภาคกลาง อยู่ที่ระดับ 47.0 ลดลงจากระดับ 47.3 ในเดือนพ.ค. โดยปัจจัยลบมาจากสถานการณ์ความไม่ชัดเจนทางการเมือง, ปัญหาหนี้สินในภาพรวมเพิ่มขึ้น, ปัญหาคุณภาพชีวิต, ปริมาณการส่งออกชะลอตัวลง ส่วนปัจจัยบวก ได้แก่ เม็ดเงินกระจายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลผ่านโครงการ e-Payment, การจ้างงานขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตในธุรกิจภาคบริการ ทั้งนี้ ภาคเอกชนได้เสนอให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องทางการค้า, สนับสนุนเงินทุนเพื่อพัฒนาธุรกิจ SME และสินค้าชุมชน, สร้างความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายของผู้บริโภค

ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยภาคตะวันออก อยู่ที่ระดับ 51.4 ลดลงจากระดับ 51.9 ในเดือนพ.ค. โดยปัจจัยลบสำคัญมาจาก ปัญหาการลงทุนในภาครัฐที่ไม่มีประสิทธิภาพ, การท่องเที่ยว การค้าขายซบเซา, เงินบาทแข็งค่ากระทบต่อการส่งออก, นักท่องเที่ยวชะลอตัว แต่ยังมีปัจจัยบวกที่สำคัญ ได้แก่ ภาคเกษตรขยายตัวในเกณฑ์ดีจากที่เริ่มเข้าฤดูกาลเพาะปลูก และฝนตกตามฤดูกาล, ตลาดต่างประเทศยังมีความต้องการสินค้าไทย, สถานประกอบการขยายตัว และมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น ส่วนสิ่งที่ภาคเอกชนต้องการเสนอแนะไปยังรัฐบาล คือ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยและภาษีที่ดินให้ผู้ประกอบการอย่างเสมอภาคทั้งรายเล็กและรายใหญ่, ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนอย่างครบวงจร เพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชน และดูแลเงินบาทไม่ให้แข็งค่าขึ้น

ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 46.5 ลดลงจากระดับ 47.1 ในเดือนพ.ค. โดยปัจจัยลบสำคัญ ได้แก่ การค้าชายแดนไม่ได้รับการกระตุ้นเท่าที่ควร, ปัญหาหนี้นอกระบบ, ปัญหาคุณภาพชีวิตและระบบการศึกษา, ภัยแล้งกระทบการเพาะปลูก ส่วนปัจจัยบวก ได้แก่ ปริมาณผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้น เนื่องจากเข้าสู่ช่วงเก็บเกี่ยว, บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล แต่ภาคเอกชนยังมีสิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐเข้ามาแก้ไข คือ การกระจายรายได้โดยจัดสรรงบประมาณให้กับจังหวัดมากขึ้น, ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนอย่างครบวงจร เพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชน, ยกระดับผู้ประกอบการขนาดเล็กเพื่อให้มีศักยภาพและโอกาสทางธุรกิจ

ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยภาคเหนือ อยู่ที่ระดับ 47.3 ลดลงจากระดับ 47.8 ในเดือนพ.ค. ปัจจัยลบที่สำคัญ ได้แก่ การค้าชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านเติบโตแบบชะลอตัว, ปัญหาภาระหนี้สินของเกษตรกร, กำลังซื้อประชาชนลดลง, การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ส่วนปัจจัยบวกที่สำคัญ เช่น ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวจากการลงทุนในกิจการอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากโครงการต่างๆ ของรัฐบาล, ประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น จากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย สำหรับสิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไข คือ แก้ปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตร เพื่อเพิ่มเม็ดเงินในกระเป๋าให้แก่ระดับรากหญ้า, ผลักดันการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในภาคเหนือ

ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยภาคใต้ อยู่ที่ระดับ 44.3 ลดลงจากระดับ 44.7 ในเดือนพ.ค. โดยปัจจัยลบที่สำคัญ ได้แก่ การท่องเที่ยวรวมถึงกำลังซื้อของประชาชนชะลอตัว, การกระจายรายได้ในชุมชนไม่ทั่วถึง, การค้าชายแดนเติบโตแบบชะลอตัว ส่วนปัจจัยบวก ได้แก่ การลงทุนขยายตัวตามความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่เพิ่มขึ้น, ภาคเกษตรปรับตัวดีขึ้นจากนโยบายรัฐบาลที่ช่วยแก้ปัญหายางพารา รวมถึงการเพิ่มมูลค่าผลผลิตยางพารา อย่างไรก็ดี ยังมีสิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไข คือ การแก้ไขกฎหมายที่จะเป็นประโยชน์กับการค้าชายแดน และเร่งผลักดันโครงการในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานให้มีความต่อเนื่อง

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยปรับตัวลดลงในทุกภูมิภาคต่อเนื่องกันมาเป็นเดือนที่ 4 นับตั้งแต่มี.ค.62 แสดงให้เห็นว่าความเชื่อมั่นของผู้นำภาคเอกชนในทุกจังหวัดมองว่าเศรษฐกิจมีสัญญาณชะลอตัวลง ซึ่งต่อเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาส 1 จนถึงไตรมาส 2 ของปีนี้ และอาจจะลากยาวไปจนถึงไตรมาส 3 และไตรมาส 4

"จากผลสำรวจความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจในแต่ละจังหวัดพบว่าลดลง มีสัญญาณชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง และอาจจะลากไปถึงไตรมาส 3 และ 4 ของปีนี้ เศรษฐกิจยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวไปจนถึงสิ้นปี" นายธนวรรธน์ กล่าว

พร้อมระบุว่า ขณะนี้จึงเห็นสัญญาณบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไทยยังชะลอตัวอย่างต่อเนื่องในทุกภาค ดังนั้นการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วนจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการใช้นโยบายการคลังแบบขาดดุล และรัฐบาลต้องเร่งอัดฉีดงบประมาณลงสู่ระบบเศรษฐกิจ ดูแลช่วยเหลือภาคการเกษตร ภาคสังคม ภาคธุรกิจ รวมถึงการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ