(เพิ่มเติม) รมว.คลัง คาดเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเข้า ครม.ภายในเดือน ส.ค.นี้

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 2, 2019 14:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวภายหลังการมอบนโยบายแก่ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงการคลังถึงความคืบหน้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจว่า คาดว่าภายในเดือน ส.ค.นี้จะสามารถเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณามาตรการในภาพรวมทั้งหมด โดยเบื้องต้นมาตรการที่ออกมาจะไม่ใช่มาตรการระยะสั้น ส่วนรายละเอียดรจะพิจารณาจากความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจแต่ละส่วน ซึ่งมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดพิจารณาปัจจัยที่จะมีผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพื่อเตรียมมาตรการมารองรับ

"ยังต้องมีการหารือในรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจกับอีกหลายหน่วยงาน ก่อนเสนอรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด)พิจารณา โดยหลักมาตรการที่เกี่ยวกับกระทรวงการคลังจะเน้นเรื่องการดูแลเศรษฐกิจเป็นหลัก ถ้าตรงไหนจำเป็นก็จะต้องมีมาตรการเข้าไปดูแล เช่น อาจจะต้องเร่งรัดการลงทุน จะต้องมีมาตรการเข้าไปดูแลในส่วนนั้น เป็นต้น" รมว.คลัง กล่าว

รมว.คลัง กล่าวอีกว่า ยังไม่มีแนวคิดจะปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในขณะนี้

"ไม่ใช่ภารกิจที่กระทรวงการคลังจะเป็นคนตัดสินใจ มันเป็นเรื่องของรัฐบาล ยืนยันว่าตอนนี้กระทรวงการคลังยังไม่ได้พิจารณาเรื่องนี้เลย"นายอุตตม กล่าว

นอกจากนี้ จะทบทวนระบบการจัดเก็บรายได้ว่ามีส่วนใดที่ต้องปรับปรุงอีก เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกับประชาชนกลุ่มต่าง ๆ และให้เกิดประสิทธิภาพประสิทธิผลในการจัดเก็บ แหล่งที่มาของรายได้ ภาษีควรให้มีการสอดรับกับสถานการณ์ด้าน e-commerce รวมถึงต้องดูว่าควรพิจารณาปรับปรุงอย่างไรอีกบ้างเกี่ยวกับโครงสร้างภาษี พร้อมทั้งให้ทุกหน่วยงานจริงจังกับการจัดทำระบบบิ๊กดาต้า เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้สูงสุดด้วยเช่นกัน โดยให้ทุกหน่วยงานไปทบทวนและกำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์เชิงปฏิบัติที่จะต้องเร่งดำเนินการใน 3 เดือน

รมว.คลัง กล่าวว่า ในส่วนการจัดทำงบประมาณสมดุลนั้น อาจจะต้องมีการทบทวนแผนการคลังในระยะกลางใหม่อีกครั้ง เพราะมีการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และนโยบายของประเทศใหม่ ซึ่งต้องไปศึกษาว่าการลงทุนต่าง ๆ จะเกิดประโยชน์อย่างไร มีผลกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจเท่าไหร่ แต่ยืนยันว่ารัฐบาลยังมีเป้าหมายในการจัดทำงบประมาณแบบสมดุลเหมือนเดิม

ทั้งนี้ รมว.คลัง ได้กำชับให้ผู้บริหารกระทรวงการคลังเร่งกำหนดภารกิจ หรือยุทธศาสตร์ของหน่วยงานในเชิงปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมที่ต้องเร่งดำเนินการภายใน 3 เดือน ให้สอดคล้องกับภารกิจของกระทรวงการคลัง และนโยบายรัฐบาลที่ได้มีการนำเสนอผ่านสภา และสอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติด้วย เพื่อให้สามารถดูแลและขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับภารกิจแรก คือ การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย เพื่อยกระดับเศรษฐกิจไทยให้ก้าวทันโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงมากมาย ทั้งด้านเทคโนโลยี สังคม และพฤติกรรมของผู้บริโภค ทำให้อาจจะต้องมีการลงทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งกระทรวงการคลังมีหน้าที่ในการจัดสรรงบประมาณในการดูแลซึ่งต้องคุ้มค่า ส่วนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ได้กำชับให้เป็นการลงทุนในเชิงคุณภาพ จะบริหารโครงการอย่างไรให้เกิดความยั่งยืนที่สุด และจะมีแนวทางการลงทุนอย่างไรเพื่อลดภาระงบประมาณ แต่ได้ผลสัมฤทธิ์ที่ดี เช่น การเชิญเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในรูปแบบที่เหมาะสมทั้งทางโครงสร้างพื้นฐาน และทางดิจิทัล

"การลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศของไทยต้องปรับไปสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลมากขึ้น ที่ผ่านมาได้ดำเนินการเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านการเงินไปแล้ว ทั้งด้าน e-commerce e-payment Promtpay และได้มอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งขยายงานในด้านนี้เพื่อต่อยอดการเงินแบบดิจิทัล ให้กระจายผลประโยชน์ไปยังประชาชน ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน ร้านโชห่วย เป็นต้น" นายอุตตม กล่าว

ขณะที่ภารกิจที่ 2 คือการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค การสร้างเศรษฐกิจฐานรากที่เข้มแข็ง ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลเรื่องโครงสร้างในการสร้างความเข้มแข็งให้ภาคเกษตร ผู้ประกอบการขนาดเล็ก เพื่อจัดงบประมาณดูแลได้อย่างเหมาะสม

ส่วนภารกิจที่ 3 คือ การดูแลยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนผ่านสวัสดิการต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงวัย เพื่อให้เกิดสังคมที่เข้มแข็ง

ด้านนายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สศค. ได้รับมอบหมายให้ศึกษารายละเอียดเรื่องการปรับโครงสร้างภาษี ซึ่งต้องพิจารณาว่าหากมีการปรับโครงสร้างภาษีจะส่งผลกับฐานะการคลังอย่างไร ตรงนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ และต้องตอบโจทย์การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และส่งเสริมอุตสาหกรรม อีกทั้งต้องดูเรื่องการบริหารการจัดเก็บให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ