ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่ามาตรการกันสำรอง 30% เป็นมาตรการที่ทางการนำมาใช้เพียงชั่วคราว และในท้ายที่สุดก็คงจะต้องยกเลิกไป เนื่องจากเศรษฐกิจและตลาดการเงินของไทยยังจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยเม็ดเงินลงทุนหรือสภาพคล่องจากต่างประเทศ เพื่อการพัฒนาตลาดเงินและตลาดทุนอย่างยั่งยืนในอนาคต
แต่การจะยกเลิกมาตรการดังกล่าวท่ามกลางภาวะตลาดเงินตลาดทุนโลกที่มีความซับซ้อนนั้น ควรจะต้องมีความลงตัวในเงื่อนไข 3 ประการ อันได้แก่ จังหวะเวลาที่เหมาะสม คือ ไม่ควรยกเลิกในช่วงที่เงินดอลลาร์ฯมีแนวโน้มอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักเพียงทิศทางเดียว
การส่งสัญญาณด้านนโยบายที่ชัดเจนให้กับตลาด นั่นคือ การยกเลิกไม่ได้หมายความว่าทางการไทยยอมให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นโดยไม่มีขอบเขต
และมาตรการรองรับที่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการผ่อนปรนมาตรการกันสำรอง30% เดิมให้มีความยืดหยุ่นเพิ่มมากขึ้น หรือมาตรการเก็บภาษีเงินทุนไหลออก (Exit Tax) ทางการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีความพร้อมในการเข้ารับมือกับกระแสความผันผวนของเงินทุนในระบบการเงินโลก
สำหรับนโยบายอัตราดอกเบี้ยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่าไม่ควรที่จะนำไปผูกโยงหรือคาดหวังว่าจะเกิดขึ้นควบคู่ไปกับการประกาศยกเลิกมาตรการกันสำรอง30% โดยอัตโนมัติ เพราะการตัดสินใจนโยบายอัตราดอกเบี้ย ควรที่จะขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในประเด็นความเสี่ยงที่มีต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยรวม โดยเฉพาะประเด็นในด้านเงินเฟ้อและการขยายตัวของเศรษฐกิจ
และแม้ว่าในที่สุดแล้ว กนง.อาจจะตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ซึ่งควรจะเกิดขึ้นภายใต้จังหวะเวลาและเหตุผลสนับสนุนที่เหมาะสมกับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจโดยรวม กนง.ก็ควรที่จะมีการชี้แจงถึงเหตุผลหรือข้อสนับสนุนการตัดสินใจดังกล่าวที่ชัดเจนและสมเหตุสมผล เพื่อไม่ให้เกิดข้อกังขาถึงความมีอิสระในการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท.ว่าเป็นการดำเนินการตามข้อเรียกร้องและแรงกดดัน หรือเป็นการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยเพียงเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่งโดยเฉพาะเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม หากทางการประกาศยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% ในระยะใกล้นี้ โดยที่ไม่มีมาตรการอื่นใดมารองรับ ในขณะที่กระแสการคาดการณ์แนวโน้มการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และเมื่อผนวกกับเงินลงทุนจากต่างประเทศที่คาดว่าอาจมีการไหลเข้าสุทธิเพิ่มมากขึ้นแล้ว อาจทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องรับซื้อเงินดอลลาร์ฯและแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาทเข้าสู่ระบบในจำนวนที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าในระยะที่ผ่านมา ขณะเดียวกันก็ต้องดูดซับสภาพคล่องเงินบาทออกจากระบบเพิ่มขึ้นด้วย เพื่อรักษาสมดุลปริมาณเงินในระบบไม่ให้มีมากเกินไปจนเป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบดังกล่าว การประกาศยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% จึงควรที่จะมีการพิจารณาและไตร่ตรองประเด็นต่างๆ อย่างรอบคอบและระมัดระวัง
--อินโฟเควสท์ โดย อภิญญา วุฒิเมธากุล/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์:
[email protected]