"สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์"ชวนวิเคราะห์ศึกมหาอำนาจ"สหรัฐ-จีน"ซัดแหลก พร้อมเช็คคลังแสง...สมรภูมินี้ใครชนะ!!

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 8, 2019 15:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐกิจและการเมือง มองสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนมีท่าทียกระดับรุนแรงขึ้น ซึ่งความขัดแย้งรอบนี้เป็นการทำสงครามเพื่อความอยู่รอด แม้จุดเริ่มต้นจะเกิดจากสหรัฐต้องการแก้ไขปัญหาขาดดุลการค้ากับนานาชาติทั่วโลก โดยเฉพาะจีนที่มีมูลค่าการค้ากับสหรัฐสูงเป็นอันดับ 1 กว่า 5.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ในอีกมุมหรึ่งสหรัฐก็ต้องการป้องกันไม่ให้จีนเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทั้งด้านเศรษฐกิจ,สังคม และการเมือง หลังจากที่จีนเร่งสปีดการก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจที่มีบทบาทสำคัญในเวทีโลกอย่างชัดเจน

เงื่อนไขของสหรัฐที่จีนไม่สามารถทำได้ คือการปรับแก้ไขกฎหมายเรื่องการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยี ,ไม่ให้มีการละเมิดเรื่องลิขสิทธ์ ,ลดทอนการอุดหนุนรัฐวิสาหกิจเพื่อลดความได้เปรียบทางการแข่งขัน ,รวมถึงการเปิดเสรีการค้าและบริการมากขึ้น เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่สหรัฐหวังสกัดไม่ให้จีนขึ้นมาแข่งขันในเวทีโลก

*ใครได้เปรียบ-เสียเปรียบสงครามครั้งนี้

นายสมชาย กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"โดยวิเคราะห์ในแง่ความได้เปรียบและเสียเปรียบว่า ต้องยอมรับว่าสหรัฐฯมีความได้เปรียบจีน ด้วยเหตุผล 6 ประการ คือ ข้อแรก สหรัฐมีความได้เปรียบในด้านนโยบายตั้งกำแพงภาษี เพราะจีนส่งออกสินค้าไปสหรัฐมูลค่าสูงกว่า 5.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่บสหรัฐส่งออกสินค้าไปยังจีนมูลค่า 1.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ

ข้อสอง แม้ว่าจีนจะถือครองพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐกว่า 1.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีเงินสำรองเป็นสกุลดอลลาร์ถึง 3.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ถ้าหากจีนขายพันธบัตรสหรัฐทิ้ง สิ่งที่เกิดขึ้นกับจีนคือต้องได้รับจากผลขาดทุนมหาศาลทันที เช่นเดียวกับกรณีถ้าขายเงินทุนสำรองสกุลดอลลาร์ออกมามาก ผลตามมาคือทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่า ส่งผลให้ทุนสำรองของจีนจะถูกด้อยค่าลง ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าจีนไม่กล้าที่จะใช้มาตรการดังกล่าวโจมตีสหรัฐ

ข้อสาม จีนประกาศจำกัดการลงทุน ปัจจุบันเศรษฐกิจจีนในครึ่งปีแรกเติบโตเฉลี่ย 6.3% ถือว่าต่ำที่สุดรอบ 27 ปี เป็นเหตุให้จีนกังวลว่าถ้าจำกัดการลงทุนเกินไป อาจทำให้เศรษฐกิจย่ำแย่กว่าเดิม หรือทำให้รัฐบาลจีนเกิดความสั่นคลอนได้

ข้อสี่ จีนส่งเสริมให้เกิดค่านิยมในประเทศเพื่อหยุดใช้สินค้าของสหรัฐ เช่นเดียวกับ ข้อห้า คือ จีนประกาศไม่ซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐ ทั้ง 2 ข้อมีผลกระทบที่เกิดกับสหรัฐฯค่อนข้างจำกัด

ส่วนข้อหก คือ การยกระดับมาเป็นสงครามค่าเงิน แต่การใช้นโยบายนี้มีต้นทุน เพราะต้องนำเงินทุนสำรองของประเทศเข้ามาสนับสนุน ที่ผ่านมาเห็นว่าจีนประกาศลดค่าเงินหยวนเพื่อตอบโต้สหรัฐ แม้ว่ามีข้อดีคือทำให้ส่งออกดีขึ้น ช่วยชดเชยผลกระทบจากกำแพงภาษี แต่ผลที่ตามมาคือค่าเงินหยวนสูญเสียความเชื่อมั่น ทำให้เงินไหลออกจีนเป็นจำนวนมาก จนธนาคารกลางจีนต้องเข้ามาตรึงไว้

นรายสมชาย กล่าวว่า ในปี ค.ศ.2015 จีนเคยประสบเหตุการณ์เช่นนี้ต้องนำเงินทุนสำรองเข้ามาสนับสนุนค่าเงินหยวนมากถึง 5 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ดังนั้นมาตรการค่าเงินที่จีนจะนำมาตอบโต้สหรัฐฯ จึงทำได้ในกรอบจำกัดเช่นกัน

"ผมมองว่าสิ่งที่จีนทำได้ในเวลานี้คือต้องยื้อเวลา อึดเข้าไว้ ใช้เงินทุนสำรองเข้ามาสู้และประคองไม่ให้เศรษฐกิจของตัวเองย่ำแย่ไปกว่านี้ เพราะในระยะถัดไปหากสหรัฐใช้นโยบายขึ้นขึ้นภาษีนำเข้าจากจีน 10% ในวงเงิน 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯในวันที่ 1 กันยายนนี้ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นสหรัฐคือการบริโภคในประเทศหดตัวอย่างมีนัยสำคัญ เพราะต้นทุนสินค้าเป็นกลุ่มอุปโภคและบริโภคจากจีนจะสูงขึ้น

ที่ผ่านมาสังเกตุว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังเติบโตได้ดี ส่วนใหญ่โตจากการบริโภคในประเทศ ส่วนธุรกิจขนาดใหญ่ไม่ได้เติบโต นั่นเป็นเหตุให้สหรัฐต้องมาใช้นโยบายลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นการบริโภคเพิ่มขึ้น นอกจากนั้น บริษัทขนาดใหญ่สหรัฐของลงทุนในจีนก็จะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัวมากขึ้น ผลกระทบเข้ามาในสหรัฐเป็นเหมือนบูมเมอแรง ถึงเวลานั้น โดนัลด์ ทรัมป์ คงต้องมาเจรจาหาข้อยุติกันอีกครั้ง"นายสมชาย กล่าว

นายสมชาย ให้มุมมองเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ มองว่าตัวเองมีความได้เปรียบมาตลอดทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง แตกต่างกับจีนที่กำลังเจอศึกรอบด้าน โดยด้านเศรษฐกิจนับว่าย่ำแย่มากในรอบ 30 ปี มีข้อจำกัดเรื่องการกระตุ้นเพราะมีระดับหนี้สาธารณะและไม่สาธารณะรวมกันสูงถึง 260% ต่อ GDP นอกจากนี้ ยังมีปัญหากับฮ่องกง เป็นจังหวะที่ทรัมป์ มองว่ามีความได้เปรียบ ในมุมการเมืองยังสามารถเรียกคะแนนเสียงจากประชาชนในสหรัฐเพื่อเป็นรัฐบาลต่อได้ และสหรัฐยังสามารถขายอาวุธให้กับไต้หวันโดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกขัดขวางจากจีนอีกด้วย

"แม้ว่าสหรัฐจะมีความได้เปรียบ แต่ก็ไม่ได้หมายความสหรัฐต้องชนะสงครามนี้ เพราะจีนเป็นประเทศใหญ่ การต่อสู้กันคงต้องยื้อกันอีกซักระยะ ด้านสหรัฐฯยังมีกระสุนเหลืออยู่อีกมาก หลังจากก่อนหน้านี้ขึ้นดอกเบี้ยไปแล้วถึง 9 ครั้ง ก่อนจะปรับลดมา 1 ครั้งเท่านั้น และการขึ้นภาษีวงเงิน 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ถ้าเก็บรอบนี้ 10% ก็ยังสามารถขึ้นได้อีกเป็น 25% ได้เช่นกัน แต่ผลกระทบไม่ใช่เป็น Zero Sum Game ต้องกระทบทั้งคู่ ความยากของเกมนี้ถ้าจะให้จบลงได้คือผู้นำของทั้ง 2 ประเทศจะมีแนวทางหรือเงื่อนไขอย่างไรให้เกมนี้จบแบบ Win-Win สามารถบอกประชาชนของตัวเองได้ว่าเราไม่ได้แพ้สงคราม แต่เป็นการชนะทั้งคู่ นั้นเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก"รศ.ดร.สมชาย กล่าว

*Trade War ทุบเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง-ส่งออกเสี่ยง"ติดลบ"

นายสมชาย ยังประเมินผลกระทบสงครามการค้ากับเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีว่า ผลกระทบหลักคือการค้าไทย-จีนต้องหดตัว ปัจจุบันจีนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย และมีปริมาณนักท่องเที่ยวเป็นอันดับหนึ่งในไทยเช่นกัน หากเศรษฐกิจจีนยังอยู่ในภาวะชะลอตัว จะเป็นความเสี่ยงที่กระทบให้การส่งออกของไทยในปีนี้มีโอกาส"ติดลบ"จากปีก่อนเติบโตกว่า 7% แม้ว่ารายได้ท่องเที่ยวในปีนี้ยังอาจเติบโตได้เล็กน้อย แต่มีผลต่อเศรษฐกิจน้อยกว่าส่งออกที่มีสัดส่วนถึง 60% ต่อ GDP ขณะที่การบริโภคในประเทศก็ยังมีข้อจำกัดจากการเร่งตัวขึ้นของหนี้ภาคครัวเรือน แม้ตัวเลขจะลดลงเมื่อเทียบกับการเพิ่มขึ้นของ GDP แต่มูลค่าหนี้ครัวเรือนกลับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ด้านงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 คาดว่าจะเบิกจ่ายล่าช้ากว่ากำหนดที่ควรจะต้องออกมาในเดือน ต.ค.62 จึงทำให้แรงกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังถูกบั่นทอนลงไป เบื้องต้นยังคาดหวังว่า GDP ปีนี้จะสามารถเติบโตได้ระดับ 3.00-3.30% อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์เกิดเลวร้ายกว่าในปัจจุบันมีโอกาส GDP อาจเติบโตต่ำกว่า 3% ได้เช่นกัน

"เศรษฐกิจไทยยังคงมีปัญหาที่เป็นเชิงโครงสร้างที่ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมคือปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน ,ความเหลื่อมล้ำ รวยกับจน แม้ที่ผ่านมารัฐบาลเข้ามาแก้ปัญหา แต่เป็นแค่ผิวเผิน ไม่ได้ทำให้ฐานะประชาชนดีขึ้น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี อาจช่วยเหลือเงินทุนบ้าง แต่ไม่ได้ยกระดับการแข่งขันด้านนวัตกรรม เช่นเดียวกับภาคเกษตร ที่ใช้นโยบายดูแลรายได้เกษตรชั่วคราว ไม่ได้เพิ่มขีดความสามารถให้กับพืชเศรษฐกิจสำคัญ

แนวทางแก้ไขต้องเริ่มต้นในวันนี้ แม้ต้องใช้เวลานานก็ตาม ถ้าสังเกตุจะพบว่าต่างชาติบอกว่าไทยเป็นประเทศ Laggard เพราะย้อนไป 40 ปีที่แล้วเศรษฐกิจไทยเคยเติบโตถึง 8-9% ,30 ปีย้อนหลังเติบโตเหลือ 5% ,20 ปีย้อนหลังเติบโตเหลือ 4% และ 10 ปีย้อนหลังเติบโตเหลือ 3% สะท้อนถึงการเติบโตลดลงเรื่อยๆ โลกเปลี่ยนแต่ไทยอาจจะยังปรับตัวได้ไม่ทัน"นายสมชาย กล่าว

https://youtu.be/GxfXr5_s9fA


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ