(เพิ่มเติม) "สมคิด"มอบนโยบายก.พลังงาน สร้างสมดุลพลังงานให้สอดคล้องสถานการณ์โลก-แนะใช้เงินกองทุนฯให้เกิดประโยชน์

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 15, 2019 14:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างมอบนโยบายให้กับผู้บริหารกระทรวงพลังงานว่า ในการจัดทำแผนพลังงานควรมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลก เพราะเชื่อว่าพลังงานฟอสซิลคงมีใช้อีกไม่ถึง 20 ปี ดังนั้นจึงต้องแสวงหาพลังงานทางเลือกใหม่เพิ่มเติม เพื่อสร้างสมดุลและความมั่นคง โดยมีแนวทางใดที่จะสร้างสมดุลเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านพลังงานในภูมิภาค เป็นที่พึ่งพิงของประเทศเพื่อนบ้านอย่างแท้จริง อีกทั้งกำหนดนโยบายที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและความยากจน

นอกเหนือจากนโยบายของกระทรวงฯ แล้วได้ขอให้ไปดูเรื่องการนำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีสถานะเป็นบวกเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันถูกลง โดยเห็นว่าควรนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์มากกว่าเป็นเงินฝากกินดอกเบี้ย

นายสมคิด ยังฝากให้ บมจ.ปตท. (PTT) ดำเนินการเรื่องปุ๋ยสั่งตัดเพื่อช่วยลดต้นทุนให้แก่เกษตรกร ซึ่งหาก ปตท.ขาดผู้เชี่ยวชาญก็ให้แสวงหาความร่วมมือจากต่างประเทศ รวมถึงการลงทุนทำห้องเย็น การเปิดสถานีบริการน้ำมันเพื่อเป็นจุดขายสินค้าชุมชน

ทั้นี้ นายสมคิด ได้เน้นย้ำให้ ปตท.และบริษัทในเครือ นำไปสู่โมเดลการทำเศรษฐกิจที่เรียกว่า BCG หรือ Bio Economy (เศรษฐกิจชีวภาพ) Circular Economy (เศรษฐกิจหมุนเวียน) และ Green Economy (เศรษฐกิจสีเขียว) เนื่องจากเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญ

"ปตท.ควรใช้โอกาสนี้ลงทุนเพื่อสร้างความเข้าใจอันดีกับชุมชน เพื่อลบภาพลักษณ์ที่ไม่ดี" นายสมคิด กล่าว

ขณะเดียวกันการเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของกระทรวงพลังงาน ควรเร่งดำเนินการให้เสร็จโดยเร็ว แต่ต้องเน้นการสร้างความสมดุลกับประเทศอื่นๆด้วย โดยเฉพาะแหล่งปิโตรเลียมพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชา ต้องร่วมมือกันพัฒนาให้เกิดประโยชน์ เพราะเป็นเรื่องที่เจราจากันมาหลายปีแล้ว นอกจากนี้การหาแหล่งสำรวจและผลิตปิโตรเลียมใหม่เพิ่มเติม ถือเป็นเรื่องสำคัญต่อความมั่นคงพลังงานของประเทศ และยังเป็นจุดที่สามารถทำให้ไทยกลายเป็นที่พึ่งพาด้านพลังงานของประเทศเพื่อนบ้านได้ จนนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางพลังงานอาเซียนในอนาคต

อย่างไรก็ตาม อยากฝากให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), ปตท.ที่เป็นองค์กรขนาดใหญ่เข้ามาสนับสนุนเรื่องสตาร์ทอัพให้มากขึ้น

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า จะเดินทางไปมอบนโยบายให้กับผู้บริหาร ปตท.และ กฟผ. โดยเฉพาะนโยบายที่เป็นเรื่องแนวคิดนอกกรอบ เช่น การสร้างสตาร์ทอัพ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร

สำหรับในวันนี้ รองนายกฯ ได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงานเร่งดำเนินการในเรื่องของการลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความสามารถทางการแข่งขันในยุคพลังงานเพื่อประชาชนทุกคน (Energy For All) รวมทั้งการยกระดับชุมชน โดยมอบหมายให้ ปตท.เร่งดำเนินการศึกษาเรื่อง "ปุ๋ยสั่งตัด" เนื่องจากเป็นต้นทุนพลังงาน เพื่อให้ ปตท.เป็นกำลังหลักในการยกระดับ สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าชุมชนและสินค้าเกษตรกร

ส่วนมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้เพื่อลดค่าครองชีพด้านพลังงาน ยังมีเวลาอีก 2 เดือน ในการพิจารณาด้านก๊าซหุงต้ม(LPG) ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(NGV) ไบโอดีเซล B10 และB20 ที่จะหมดมาตรการภายในเดือนก.ย.นี้ ได้ประสานกับทางกระทรวงการคลังในการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ นอกจากนี้ยังเข้าไปดูกลุ่มเอสเอ็มอี ที่มีภาระต้นทุนพลังงาน โดยจะเชื่อมโยงข้อมูล Big Data กับกระทรวงอุตสาหกรรม

ขณะที่การเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ จะเร่งรัดกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เดินหน้าเปิดสำรวจรอบใหม่ตามแผนที่จะเปิดปี 2563 โดยตามแผนเดิมเตรียมเปิดทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 17 แปลง แบ่งเป็นการเปิดประมูลขอสิทธิสำหรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่แปลงในกลุ่ม A และ B ในในอ่าวไทยรวม 10 แปลง และบนบกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 แปลง ภาคกลาง 2 แปลง ซึ่งจะเปิดเป็นรอบตามความเหมาะสมต่อไป นอกจากนี้เรื่องพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ซึ่งมีความตั้งใจจะให้มีความชัดเจนภายในปี 2565

"กำลังดำเนินการเร่งรัด เพราะเรื่องล่าช้ามานานมาก พยายามทำให้เสร็จในช่วงที่ผมเป็นรัฐมนตรี" นายสนธิรัตน์ กล่าว

ส่วนนโยบายที่มอบหมาย กฟผ. โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมผลักดันนโยบาย Energy For All โดยการทำโครงการ 1 ชุมชน 1 พลังงานไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์ เช่น เอสเอ็มอี ร่วมกับชุมชนสร้างโรงไฟฟ้าในแต่ละพื้นที่ อาทิ โซลาร์เซลล์ เชื่อว่าจะเกิดเม็ดเงินหมุนเวียน 2-3 หมื่นล้านบาท และยกระดับพืชพลังงาน รวมทั้งช่วยแก้ปัญหาราคาพืชผลเกษตรกร เช่น ปาล์มน้ำมัน เป็น B10 และB20 เกิดการใช้ CPO 2 ล้านตันต่อปี นอกจากนี้ยังต้องการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเป็นศูนย์กลางไฟฟ้าในภูมิภาค

"หลังกระทรวงพลังงานได้รับมอบนโยบายจากรองนายกฯ เตรียมตรวจเยี่ยม ปตท. เร็วๆนี้ ส่วนการตรวจเยี่ยม กฟผ. จะเป็นช่วงปลายเดือนส.ค.นี้"นายสนธิรัตน์ กล่าว

ด้านนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่และกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTT เปิดเผยว่า ปตท.อยู่ระหว่างวางแผนทำ 2 เรื่อง แต่สิ่งสำคัญคือต้องทำให้เบ็ดเสร็จ หากสร้างห้องเย็นแล้วไม่มีช่องทางจำหน่ายในอนาคตจะทำอย่างไร ส่วนปุ๋ยสั่งตัดก็กำลังทดลองหลายพื้นที่ และใช้ผลพลอยได้จากปิโตรเคมีในกลุ่ม ปตท.มาผลิตและจะใช้เอนไซม์หรือส่วนผสมอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยร่วมมือกับกรมที่ดินในการพัฒนาปุ๋ยสั่งตัดให้เหมาะสมกับพื้นที่ด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ