รมว.อุตสาหกรรม ตรวจเยี่ยมกนอ. เร่งขับเคลื่อนแผนงานโครงการสำคัญให้เป็นไปตามเป้าหมาย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 19, 2019 16:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า หลังจากที่เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 19 ก.ค.62 ได้กำหนดเป้าหมายที่จะจัดทำแผนงานเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานต่างๆ ของกระทรวงอุตสาหกรรมให้ชัดเจนภายใน 100 วัน ในการผลักดันเศรษฐกิจท่ามกลางภาวะแรงกดดันจากสงครามการค้า ดังนั้นการมาตรวจเยี่ยมการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ก็เพื่อติดตามและเร่งรัดการดำเนินงานต่างๆ ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้

โดย กนอ.ได้รายงานถึงโครงการหลักสำคัญที่จะดำเนินการให้ได้ภายใน 100 วัน ได้แก่ โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่จะมีการนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติร่างสัญญาร่วมลงทุนโดยเร็ว และคาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาร่วมทุนกับกลุ่มกิจการร่วมค้ากัลฟ์ และพีทีที แทงค์ ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ร่วมลงทุนโครงการภายในเดือนก.ย.นี้

ซึ่งการพัฒนาโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3 (ช่วงที่ 1) ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ต.มาบตาพุด อ.เมืองระยอง จ.ระยอง บนพื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่ โดยแบ่งการพัฒนาเป็น 2 ช่วง โดยในช่วงที่ 1 เป็นการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ประกอบด้วย การขุดลอกร่องน้ำ และแอ่งกลับเรือ การก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น การก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานการติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมการเดินเรือ ท่าเทียบเรือบริการ และคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 68

สำหรับการพัฒนาท่าเรือฯ มาบตาพุดระยะที่ 3 ในช่วงที่ 2 จะเป็นการลงทุนพัฒนาก่อสร้างในส่วนของท่าเรือ (Superstructure) จะดำเนินการพัฒนาท่าเทียบเรือสินค้าเหลว รองรับปริมาณขนถ่ายสินค้าเหลว เพื่อรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และสินค้าเหลวสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โดยจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในในปี 66 และเปิดให้บริการได้ภายในปี 68 และคาดว่าจะเสนอผลการคัดเลือกและผลการพิจารณาสัญญาต่อ ครม. เพื่อให้ความเห็นชอบก่อนลงนามในสัญญาร่วมลงทุนภายในเดือนก.ย. 62

ขณะที่โครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค (Smart Park) ซึ่ง กนอ.กำหนดให้เป็นนิคมอุตสาหกรรม 4.0 ขนาดพื้นที่ 1,500 ไร่ ซึ่งจะเป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่รองรับการลงทุนในธุรกิจอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-curve) อาทิ หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม (ROBOTICS) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (AVIATION AND LOGISTICS) อุตสาหกรรมดิจิทัล (DIGITAL)อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (BIOFUELS AND BIOCHEMICALS) และ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (MEDICAL HUB) โดยรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เรียบร้อยแล้ว และในขั้นตอนต่อไปจะเสนอต่อ ครม. พิจารณาอนุมัติได้ภายในเดือนก.ย.นี้ และคาดว่าจะสามารถก่อสร้างโครงการดังกล่าวได้เป็นไปตามแผนงานภายในปี 63 และเปิดให้บริการรองรับการลงทุนได้ภายในปี 66

พร้อมกันนี้ ได้มอบหมายให้ กนอ.ไปพิจารณาเร่งรัดการจัดหาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ในการรองรับการลงทุนของธุรกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) และผู้ประกอบการใหม่ที่เป็นกลุ่มสตาร์ทอัพ ตามแนวนโยบายที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ได้มอบหมายไว้เมื่อเดินทางมาเยี่ยมกระทรวงอุตสาหกรรมเมื่อวันที่ 14 ส.ค.ที่ผ่านมา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง ทำให้ กนอ.ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลนิคมอุตสาหกรรมและมีการพัฒนานิคมอุตสหกรรมของ กนอ. และร่วมดำเนินการกับเอกชนจำเป็นต้องดูแลเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพให้มีพื้นที่ลงทุน เพราะธุรกิจเหล่านี้คือหัวใจสำคัญในการเป็นฐานรากการพัฒนาระบบเศรษฐกิจไทย

"SMEs ถือว่าเป็นภาคการผลิตที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ เราจึงไม่ควรมองข้าม บทบาทของ กนอ.เองต้องเข้ามาดู ในส่วนนี้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจะทำอย่างไรในการเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในการร่วมส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการใหม่หรือสตาร์ทอัพ โดย กนอ.ได้จัดตั้งศูนย์ SMEs Industry Transformation Center หรือ ศูนย์ SMEs–ITC ในนิคมฯ ต่างๆ ทั่วประเทศแล้ว ซึ่งถือเป็นการช่วยส่งเสริมเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพให้สามารถต่อยอดทางธุรกิจและเกิดการพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่อุตสาหกรรม 4.0 ขณะเดียวกันในด้านรูปแบบการทำงานต้องปรับแนวคิด โดยใช้ประโยชน์จากระบบข้อมูลขนาดใหญ่ ที่เป็น Big Data System ซึ่งกลไกสำคัญในการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ที่จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดการค้า การลงทุนและการผลิตในประเทศได้ในอนาคต" นายสุริยะกล่าว

ทั้งนี้ การพัฒนาพื้นที่ของ กนอ.จะต้องมองการเชื่อมโยงกับการเกษตร เพื่อนำไปสู่อุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน หรือการทำเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) รวมทั้งให้ กนอ.มีการทำงานแบบบูรณาการเชื่อมโยงกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในแต่ละกระทรวงที่เกี่ยวข้องทั้งสถาบันศึกษา สถาบันการเงิน และสถาบันวิจัยในการเข้าไปส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ อีกทั้งยังได้มอบให้ กนอ.เชื่อมโยงการพัฒนาเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพในอีอีซีที่จะเชื่อมโยงกับโครงการไซเบอร์พอร์ตไทยแลนด์ (Cyberport Thailand) ที่ได้ร่วมลงนามกับฮ่องกงไซเบอร์พอร์ต ซึ่งเป็นศูนย์รวมสตาร์ทอัพของฮ่องกง เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนากลุ่มสตาร์ทอัพไทยให้มีศักยภาพด้วยระบบการบริการดิจิทัลที่ทันสมัย ซึ่งจะส่งผลดีทำให้เอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพมีความเข้มแข็งและพร้อมที่จะก้าวไปสู่การแข่งขันในตลาดขนาดใหญ่ได้ในอนาคต

นายสุริยะ กล่าวว่า รัฐบาลยังมีนโยบายที่จะกระจายความเจริญไปสู่ทั่วทุกภูมิภาคของไทย เพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจการค้าการลงทุนและระบบโลจิสติกส์ไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญ โดย กนอ.ได้จัดตั้งนิคมฯ สระแก้ว ภายใต้แนวคิดในการออกแบบพัฒนาตามแนวคิดอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Estate) โดยเน้นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะและปัญหาสิ่งแวดล้อมในลักษณะอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) รวมทั้งรองรับธุรกิจเอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพ บนเนื้อที่รวม 660 ไร่ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ศูนย์กลางธุรกิจตลาดชายแดน หรือตลาดโรงเกลือ และสิทธิประโยชน์ตามนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่พร้อมรองรับและสนับสนุนการทำธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันได้เปิดให้บริการนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศอย่างเต็มพื้นที่แล้ว ซึ่งกนอ.ได้รายงานว่าจะดำเนินการจัดพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนเข้ามาลงทุนในนิคมฯ สระแก้วได้ประมาณตุลาคมนี้

ส่วนการพัฒนานิคมฯ สงขลา ต.สำนักขาม อ.สะเดา จ.สงขลา ขณะนี้อยู่ระหว่างผู้รับเหมาเข้าดำเนินการพัฒนาพื้นที่ในส่วนของ ระยะที่ 1 เนื้อที่ 627.43 ไร่แล้ว นับเป็นนิคมฯ แห่งที่สองในการจัดตั้งขึ้นภายใต้การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) ของรัฐบาลที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม คาดว่าจะสามารถเปิดบริการรองรับการลงทุนได้ภายในปี 63 ส่วนนิคมฯตาก ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก พื้นที่ 671.50 ไร่ ปัจจุบันสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้พิจารณาเห็นชอบในรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างกรมธนารักษ์ออกโฉนดที่ดิน และคาดว่าจะสามารถส่งมอบพื้นที่ให้กับ กนอ.ได้ในชทวงเดือนธ.ค.62

สำหรับความคืบหน้าการศึกษาพื้นที่เพื่อรองรับการลงทุนของกลุ่มเอ็กซอน โมบิล คอร์ปอเรชั่น โครงการปิโตรเคมีส่วนขยายในพื้นที่บริเวณท่าเรือแหลมฉบัง 1,000 ไร่ มูลค่า 3.3 แสนล้านบาท ตามมติในที่ประชุมของคณะกรรมการขับเคลื่อนและประสานงานการลงทุน ได้มอบหมายให้ กนอ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำการศึกษาความเหมาะสม เพื่อพัฒนาพื้นที่บริเวณท่าเรือแหลมฉบังให้เป็นพื้นที่สำหรับอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ภายใต้แนวคิดการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือ และให้นำเสนอผลการศึกษาต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนและประสานงานการลงทุน พิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือนจากปัจจุบัน

พร้อมทั้งให้ศึกษาความเป็นไปได้ในการถมทะเล 3,000 ไร่ ซึ่งจะมีการศึกษาใน 3 รูปแบบ คือ รูปแบบแรก การที่รัฐบาลเป็นผู้ลงทุนและถมทะเลเอง รูปแบบที่สอง เป็นการที่รัฐบาลเป็นผู้ลงทุนและให้เอกชนมีส่วนร่วมในการเป็นผู้ถมทะเล และรูปแบบที่สาม เป็นการให้เอกชนลงทุนและถมทะเล โดยที่จะต้องมีการศึกษาความคุ้มค่าในการลงทุนและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปด้วย ซึ่งจะเซ็นสัญญากับสถาบันปิโตรเลียม ซึ่งเป็นสถาบันที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าวให้เป็นผู้ศึกษาการลงทุน ซึ่งทาง กนอ.จะเร่งสรุปผลการศึกษาให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด

ทั้งนี้หากผลการศึกษาออกมาคุ้มค่าในการลงทุน ประเทศได้ประโยชน์ และไม่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม รัฐบาลพร้อมที่จะเดินหน้าโครงการดังกล่าว เพื่อที่จะขับเคลื่อนการลงทุนเนื่องจากเป็นมูลค่าการลงทุนที่สูง และก่อให้เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้เข้าประเทศต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ