(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผยส่งออก ก.ค.กลับมาฟื้นเป็นบวกครั้งแรกและสูงสูดในรอบ 5 เดือน ลุ้นช่วงที่เหลือแนวโน้มดีขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 21, 2019 12:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือน ก.ค.62 โดยระบุว่าการส่งออกมีมูลค่า 21,205 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 4.28% จากตลาดคาดแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่อง ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 21,094.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 1.67% เกินดุลการค้า 110.4 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ส่งผลให้ช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.62) การส่งออกมีมูลค่ารวม 144,175.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว -1.91% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่ารวม 140,122.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว -1.81% แต่ยังเกินดุลการค้า 4,053.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า การส่งออกของไทยในเดือน ก.ค.62 ที่ขยายตัว 4.28% นั้นถือว่าเป็นการกลับมาขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกและสูงสุดในรอบ 5 เดือน นับตั้งแต่เดือน ก.พ.62 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากส่งออกทองคำที่ขยายในระดับสูงจากความต้องการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยในตลาดโลก นอกจากนี้ผลกระทบจากสงครามการค้าเริ่มลดลงจากการเร่งดำเนินนโยบายที่เอื้อต่อการส่งออกอย่างเป็นรูปธรรม ประกอบกับการส่งออกสินค้าศักยภาพใหม่ไปยังตลาดสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการส่งออกที่ทดแทนสินค้าจากจีนมีการเติบโตได้ค่อนข้างดี แต่ทั้งนี้การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันยังคงชะลอตัวจากปัจจัยด้านราคาเป็นหลัก

"ผลกระทบที่เกิดจากสงครามการค้าดูดีขึ้น แต่ก็คงพูดได้ไม่ 100% ว่าจะไม่ได้รับผลกระทบแล้ว แต่แนวโน้มระยะยาว เรามีการกระจายตัวของการส่งออกสินค้าใหม่ๆ ได้หลากหลายมากขึ้น" ผู้อำนวยการ สนค.ระบุ

สำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในเดือน ก.ค.นี้กลับมาขยายตัวได้ 1.4% โดยสินค้าเกษตรสำคัญที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ ผักผลไม้แช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป, ยางพารา, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง, ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป, กุ้งสดแช่แข็งและแปรรูป เป็นต้น ในขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ขยายตัว ได้แก่ ทองคำ ที่ขยายตัวถึง 407% เนื่องจากราคาทองคำยังเป็นทิศทางขาขึ้น ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจโลก จึงทำให้มีการถือครองทองคำมากขึ้น, อัญมณีและเครื่องประดับ, เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว, เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เป็นต้น

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า หากพิจารณาถึงผลกระทบจากสงครามการค้าต่อการส่งออกไทยในเดือน ก.ค.นี้ พบว่า สินค้าไทยที่สามารถเข้าไปทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐได้เพิ่มขึ้น 12% หรือเป็นผลบวกต่อการส่งออก 202 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยสินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ของใช้ในบ้านและสำนักงาน เพิ่มขึ้น 50.4%, ยานพาหนะและส่วนประกอบ เพิ่มขึ้น 31.7% เครื่องใช้ไฟฟ้า เพิ่มขึ้น 22.5% อาหารทะเลแช่แข็ง เพิ่มขึ้น 25.3% เป็นต้น ส่วนสินค้าไทยที่ได้รับผลดีจากมาตรการทางตรงของสหรัฐ ส่งออกเพิ่มขึ้น 53.9% หรือเป็นผลบวกต่อการส่งออก 24.7% ล้านดอลลาร์ โดยสินค้าที่ส่งออกได้เพิ่มขึ้น เช่น โซลาร์เซลล์ เพิ่มขึ้น 341% และอลูมิเนียม 53.9% ขณะที่การส่งออกสินค้าที่ได้รับผลจากห่วงโซ่อุปทานจีน ส่งออกเพิ่มขึ้น 2% หรือเป็นผลบวกต่อการส่งออก 43.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยสินค้าที่ส่งออกได้เพิ่มขึ้น เช่น ยานพาหนะและส่วนประกอบ เพิ่มขึ้น 79.5% อาหารปรุงแต่งและเครื่องดื่ม เพิ่มขึ้น 56% เครื่องจักรและส่วนประกอบ เพิ่มขึ้น 31.6% เครื่องไฟฟ้าและส่วนประกอบ เพิ่มขึ้น 7.8% เป็นต้น ทำให้ในภาพรวมแล้วในเดือน ก.ค.ไทยได้ประโยชน์จากสงครามการค้า 270 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

"กรณีสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน แม้ผู้ผลิต ผู้ส่งออกจะปรับตัวได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนอีก ซึ่งยังมีสินค้าจีนในล็อตสุดท้ายที่ไม่รู้ว่าจะถูกขึ้นภาษีหรือไม่ ทรัมป์ factor อาจก่อความไม่แน่นอน ที่กังวลตอนนี้ แม้ไทยจะต่อสู้ได้ และขายสินค้าตัวอื่นทดแทนได้ แต่ก็ยังมีผลต่อเนื่องกับประเทศอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น เพราะทรัมป์คงไม่ได้หยุดแค่จีนประเทศเดียวเท่านั้น" ผู้อำนวยการ สนค.ระบุ

สำหรับแนวโน้มการส่งออกไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าศักยภาพใหม่ที่หลากหลาย ทั้งสินค้าเกษตร, อาหาร, สินค้าไลฟ์สไตล์ที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ซึ่งเมื่อร่วมกับแผนผลักดันการส่งออกของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนของกระทรวงพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในหลายประเทศ น่าจะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจและการค้าโดยรวม และอาจทำให้การส่งออกในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้มีโอกาสกลับมาขยายตัวได้

"ช่วงที่เหลือของไตรมาส 3 และไตรมาส 4 มีโอกาสที่ส่งออกจะเป็นบวกได้ ถ้าตัดในเรื่องปัจจัยราคาน้ำมันออกไป เพราะถ้าเทียบราคาน้ำมันในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ของปีก่อนจะมีราคาสูงกว่าไตรมาส 3 และ 4 ของปีนี้ ซึ่งทำให้ปีก่อนฐานสูง และดึงมูลค่าของสินค้าในกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันลงมา" น.ส.พิมพ์ชนก ระบุ

ทั้งนี้ หากมูลค่าการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ ทำได้ในระดับไม่ต่ำกว่า 21,750 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อเดือน ก็จะส่งผลให้การส่งออกทั้งปีนี้ไม่ติดลบแน่นอน

"ถ้ารักษาระดับส่งออกที่ 21,000 ล้านดอลลาร์ปลายๆ ไว้ ส่งออกปีนี้จะเป็นแดนบวกแน่นอน" ผู้อำนวยการ สนค.ระบุ

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทว่า แม้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงไปแล้ว ซึ่งช่วยประคองให้เงินบาทไม่ปรับแข็งค่าขึ้นได้ในระดับหนึ่งแม้เงินบาทจะไม่อ่อนค่าลงไปได้มาก แต่ในช่วงจังหวะนี้ผู้นำเข้าสินค้าทุน ตลอดจนวัตถุดิบต่างๆ สามารถนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศในราคาที่ถูกลงได้ ซึ่งจะเป็นการช่วยลดต้นทุนการนำเข้าในช่วงที่เงินบาทแข็งค่าได้ นอกจากนี้ผู้ประกอบการเองก็ต้องใช้เครื่องมือต่างๆ ที่ภาครัฐมีให้ในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วยเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ