(เพิ่มเติม) รมว.พลังงาน พร้อมเป็นเจ้าภาพจัดงาน AMEM ครั้งที่ 37 ผลักดันไทยสู่"ศูนย์เชื่อมโยงไฟฟ้าอาเซียน"

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 22, 2019 15:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ประเทศไทยเตรียมความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานครั้งที่ 37 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง (ASEAN Ministers on Energy Meeting and Associated Meeting : 37th AMEM) ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 2-6 ก.ย.62 โดยไทยในฐานะประธานอาเซียนปีนี้จะเป็นเจ้าภาพจัดเวทีประชุมสร้างความร่วมมือ 3 กลุ่มผู้เล่นด้านพลังงานคือ เวทีระหว่างประเทศอาเซียน 10 ประเทศ เวทีระหว่างประเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา และเวทีระหว่างประเทศอาเซียนกับองค์กรระหว่างประเทศในประเด็นพลังงานต่าง ๆ

ในปีนี้มีแนวคิดหลัก (Theme) ของการประชุม AMEM คือ "Advancing Energy Transition Through Partnership and Innovation" คือมุ่งเน้นความร่วมมือของกลุ่มประเทศอาเซียนและประเทศคู่เจรจา รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศ ในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงาน เพื่อให้ภูมิภาคอาเซียนสามารถก้าวเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไปสู่พลังงานที่มีความยั่งยืนในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของอาเซียนที่จะสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน เพิ่มการเข้าถึงพลังงาน และสร้างพลังงานที่มีความยั่งยืนให้กับประชาชนในภูมิภาคอาเซียน

เวทีการประชุมในช่วงแรกวันที่ 2-3 ก.ย.จะเป็นการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน เพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ส่วนการประชุมระดับรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนจะมีขึ้นในวันที่ 4-5 ก.ย.โดยจะมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดการประชุม ซึ่งประเด็นหารือจะเป็นการสรุปกิจกรรมและผลงานรวมทั้งข้อเสนอต่าง ๆ ภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียนด้านพลังงานนำเสนอต่อรัฐมนตรีพลังงานของ 10 ประเทศ เพื่อรับทราบและเห็นชอบแผนดำเนินการในขั้นตอนต่อไป

ส่วนการจัดประชุมทวิภาคีระหว่างประเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา กระทรวงพลังงานจะเปิดโอกาสให้ผู้นำระดับรัฐมนตรีพลังงานและเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนได้พบปะเจรจาระหว่างการประชุม

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า การประชุม AMEM ครั้งนี้เป็นเวทีที่ไทยจะได้แสดงบทบาทในการขับเคลื่อนความมั่นคง และความยั่งยืนทางพลังงานร่วมกับประเทศในภูมิภาค และยังเป็นโอกาสที่ไทยจะได้แสดงศักยภาพให้นานาชาติประจักษ์ถึงความพร้อมในการเป็นศูนย์เชื่อมโยงไฟฟ้าอาเซียน โดยอาศัยจุดแข็งที่มีอยู่ เช่น ภาคการเกษตรของไทยที่สามารถพัฒนาผลิตเป็นพลังงานชีวภาพรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งจุดแข็งด้านภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศที่จะเชื่อมโยงการลงทุนจากทุกภูมิภาคได้ ซึ่งในการประชุมครั้งนี่จะมีความร่วมมือที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ การขยายปริมาณการซื้อขายไฟฟ้าเชื่อมโยงโครงข่ายไฟฟ้าพหุภาคีในโครงการลาว-ไทย-มาเลเซีย (LTM-PIP) จากเดิม 100 เมกะวัตต์เป็น 300 เมกะวัตต์ ซึ่งไทยเป็นประเทศทางผ่านของการเชื่อมโยงระบบสายส่งที่มีเสถียรภาพและความมั่นคงเพียงพอ

นอกเหนือจากเวทีประชุมความร่วมมือดังกล่าว ยังมีการจัดกิจกรรม ASEAN Energy Business Forum (AEBF) คู่ขนานไปกับการประชุมหลัก โดยจะเป็นงานนิทรรศการ และการแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงานจากผู้ประกอบการ รวมทั้งการจัดสัมมนาภายใต้หัวข้อหลัก "Renewable Energy Innovation Week" เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับผู้เชี่ยวชาญจากประเทศอาเซียนและประเทศต่าง ๆ

อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ภาครัฐและภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมในการบูรณาการเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมด้านพลังงานหมุนเวียนและดึงดูดนักลงทุน รวมทั้งจะมีการจัดพิธีมอบรางวัล ASEAN Energy Awards ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีควบคู่กับการประชุม AMEM เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้ภาครัฐและภาคเอกชนร่วมกันผลักดันให้เกิดการขยายการผลิตและการใช้พลังงานทดแทน และผลักดันให้เกิดการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและการอนุรักษ์พลังงาน

การประชุม AMEM ครั้งที่ 37 จะมีส่วนช่วยผลักดันและสนับสนุนให้การดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ยุทธศาสตร์กระทรวงพลังงาน แผนบูรณาการพลังงานระยะยาว 2559-2579 บรรลุเป้าหมายในการเสริมสร้างความมั่นคง มีความยั่งยืนทางด้านพลังงาน เกิดการค้า การลงทุน และการพัฒนาด้านพลังงาน สอดคล้องเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับแผนปฏิบัติการอาเซียนด้านพลังงาน (ASEAN Plan of Action on Energy Cooperation: APAEC) พ.ศ. 2559-2568 ระยะที่ 1 พ.ศ. 2559-2563 อาทิ การขยายปริมาณรับซื้อไฟฟ้าโครงการ LTM-PIP จำนวน 300 เมกะวัตต์ การปรับมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานให้เป็นมาตรฐานเดียวกันในอาเซียน อาทิ อุปกรณ์ส่องสว่างและเครื่องปรับอากาศ การลดความเข้มการใช้พลังงานให้ได้ 20% ภายในปี 2563 การผลักดันให้อาเซียนมีการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้นเป็น 23% ภายในปี 2568 การปรับปรุงฐานข้อมูลอาเซียนด้านพลังงานให้เป็นมาตรฐานสากลภายในปี 2563 การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาดเพื่อภาพลักษณ์ที่ดี การเสริมสร้างศักยภาพด้านพลังงานนิวเคลียร์ในด้านการกำกับดูแลเทคนิคและความปลอดภัย เป็นต้น

สำหรับกรอบความร่วมมืออาเซียนด้านพลังงานมี 7 สาขา และ 1 เครือข่ายความร่วมมือที่สำคัญ ประกอบด้วย 1) ความเชื่อมโยงโครงข่ายไฟฟ้าอาเซียน 2) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับขนส่งก๊าซธรรมชาติ 3) การส่งเสริมเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด 4) การส่งเสริมพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ 5) การส่งเสริมพลังงานทดแทน 6) การส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและอนุรักษ์พลังงาน 7) การจัดทำนโยบายและแผนอาเซียนด้านพลังงาน รวมถึงเครือข่ายความร่วมมือด้านการกำกับกิจการพลังงาน

รมว.พลังงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพลังงานของอาเซียนโดยที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้สั่งการให้บมจ. ปตท. ( PTT) เร่งทำแผนเพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลาง (Hub) ก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ในภูมิภาค โดย ปตท.มีศักยภาพป็นผู้นำแอลเอ็นจีในภูมิภาค ปัจจุบัน ปตท.มีโครงสร้างพื้นฐานและเครือข่ายท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่มีความเข้มแข็ง ขณะเดียวกันที่ตั้งของไทยก็เหมาะที่เป็นศูนย์กลางอาเซียน

ด้านนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTT เปิดเผยว่า ไทยมีความพร้อมเป็นศูนย์กลาง ก๊าซแอลเอ็นจีในภูมิภาค เนื่องจากไทยมีแผนขยายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะคลังรับจ่ายก๊าซแอลเอ็นจีที่หนองแฟบขนาด 11.5 ล้านตันต่อปี และคลังแอลเอ็นจีที่มาบตาพุด ขนาด 7.5 ล้านตันต่อปีที่จะแล้วเสร็จในปี 65 รวมเป็น 19 ล้านตันต่อปี เพียงพอต่อการจำหน่ายในประเทศและการส่งออกในกลุ่มประเทศอาเซียน

นอกจากนี้ ปตท.จะเสนอโครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติใหม่ 2ท่อ ได้แก่ เส้นโคราช-ขอนแก่น-น้ำพอง และเส้นพระนครใต้-บางปะกง เพื่อรองรับการเป็นฮับแอลเอ็นจีในอาเซียน ขณะที่ก๊าซนอกแนวท่อ จะใช้แนวทางการขนส่งแอลเอ็นจีทั้งทางรถยนต์และเรือเล็กไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

อย่างไรก็ตาม แผนลงทุนก่อสร้างท่อส่งก๊าซ จำนวน 2 เส้นดังกล่าว ต้องรอการอนุมัติจากกระทรวงพลังงาน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ก่อน หลังจากนั้น ปตท.จะสามารถประเมินการลงทุนได้

ปัจจุบัน ปตท.ได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับ บมจ.บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส (บีไอจี) ภายใต้ชื่อ "Map Ta Phut Air Products Company Limited (MAP) เพื่อจำหน่ายก๊าซให้อุตสาหกรรมที่อยู่นอกแนวท่อ จากที่ ปตท.จำหน่ายก๊าซผ่านแนวท่อให้กับโรงไฟฟ้าและโรงงานที่อยู่แนวท่อ และการเป็น Hub แอลเอ็นจี จะเป็นโอกาสที่ดีต่อ ปตท.ที่จะทำให้สามารถขยายตลาดในภูมิภาคได้มากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ