รมว.พาณิชย์ ถกวอร์รูมกำหนดทิศทางข้าว-มัน พร้อมเปิดตลาดใหม่ หวังดันยอดส่งออกไทยปีนี้เพิ่มขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 26, 2019 14:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมวอร์รูม คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ได้หารือกับสมาคมที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกผลิตผลทางการเกษตร ในส่วนของข้าวและมันสำปะหลัง เพื่อเร่งรัดการส่งออกในสินค้าเกษตรดังกล่าว และเร่งรัดให้การส่งออกในภาพรวมของประเทศดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ รวมทั้งสร้างความต่อเนื่องจากตัวเลขเดือนก.ค.62 ที่กลับมาเติบโตเป็นบวกได้ 4.28%

นายจุรินทร์ กล่าวว่า จากการประชุมเรื่องข้าว มีข้อสรุปร่วมกันว่านอกจากมาตรการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่จะเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 27 สิงหาคม 2562 โดยใช้วงเงิน 2.1 หมื่นล้านบาทแล้ว ก็จะดำเนินการเร่งรัดการส่งออกควบคู่กันไปด้วย เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา ยอดการส่งออกลดลง ซึ่งเป็นผลจากเงินบาทที่แข็งค่า ทำให้ข้าวไทยในตลาดโลกในสายตาประเทศผู้นำเข้าแพงขึ้น และเพราะไทยสูญเสียตลาดให้กับคู่แข่งบางส่วน

สำหรับตลาดที่จะดำเนินการเร่งรัดเป็นพิเศษในระยะสั้น คือ 1) ตลาดอิรัก ซึ่งเป็นตลาดเดิมของไทยในอดีต แต่ได้สูญเสียไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพราะมีบริษัทส่งข้าวไม่มีคุณภาพให้กับอิรัก ทำให้ความสัมพันธ์ในเรื่องการค้าข้าวระหว่างไทยกับอิรักเสียหายมาจนถึงวันนี้ กระทรวงพาณิชย์จะดำเนินการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอิรัก และจะร่วมมือกันทั้งส่วนของกระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชนในการฟื้นตลาดอิรักใหม่ โดยแนวทางที่จะดำเนินการ คือ จะเร่งรัดการเจรจาการค้าข้าวแบบ G to G กับอิรัก ซึ่งก่อนหน้านี้ที่ได้มอบหมายให้กรมการค้าต่างประเทศไปดำเนินการมีความคืบหน้าเป็นลำดับ อิรักได้แจ้งความประสงค์ที่จะทำการค้าข้าวแบบ G to G เป็นหลัก โดยหลังจากนี้ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยและกระทรวงพาณิชย์จะเร่งดำเนินการกำหนดแผนปฏิบัติ เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมจะดำเนินการเจรจาการค้าที่อิรักด้วยตนเอง ทั้งภาครัฐและเอกชน

2) ตลาดจีน เนื่องจากที่ผ่านมาได้มีการทำ MOU ระหว่างไทยกับจีน ที่จีนจะรับซื้อข้าวจากประเทศไทย 1 ล้านตัน แต่ยังมีค้างท่ออยู่ 3 แสนตัน ซึ่งจะดำเนินการเจรจากับจีนต่อไป โดยจะขอให้จีนรับซื้อข้าวหอมมะลิหรือข้าวหอมจากประเทศไทยแทนข้าวขาวมากขึ้นในโควตาค้างท่อที่ว่านี้

3) ตลาดฟิลิปปินส์ ซึ่งฟิลิปปินส์ได้ปรับจากระบบโควต้าเป็นระบบนำเข้าข้าวโดยภาคเอกชน ดังนั้นภาคเอกชนของฟิลิปปินส์ที่นำเข้าข้าวกับภาคเอกชนไทยยังไม่มีโอกาสที่จะได้พบปะกันอย่างจริงจัง เพราะระบบนี้เพิ่งเริ่มต้น กระทรวงพาณิชย์จะทำหน้าที่ช่วยเป็นตัวกลางในการจัดการพบปะระหว่างผู้นำเข้าข้าวฟิลิปปินส์ ผู้ส่งออกข้าวจากประเทศไทยในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งโดยเร็ว

4) ตลาดญี่ปุ่น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ขอให้ญี่ปุ่นขยายโควต้าในการนำเข้าข้าวจากประเทศไทยให้มากขึ้น

รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมยังได้หารือถึงสินค้ามันสำปะหลัง ใน 2 ประเด็น คือ 1. สถานการณ์ของโรคใบด่างที่เป็นปัญหาใหญ่ในขณะนี้ และจะเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคตถ้ายังไม่สามารถสกัดโรคใบด่างได้ ซึ่งขณะนี้ระบาดแล้วประมาณ 9 จังหวัด ทั้งนี้คณะกรรมการวอร์รูมจะรีบดำเนินการ และสรุปการหาแนวทางกำหนดมาตรการในการป้องกันการระบาดออกสู่ภายนอกใน 9 จังหวัด และจะช่วยสนับสนุนต้นพันธุ์ในจังหวัดอื่นๆ ให้สามารถปลูกมันสำปะหลังเพื่อนำไปสู่การส่งออกและนำรายได้เข้าประเทศต่อไป ภายในสัปดาห์นี้จะได้คำตอบจากการหารือร่วมกันของภาคเอกชนกับกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

2.เรื่องการเปิดตลาดมันสำปะกลัง โดยมีข้อสรุปว่าตลาดที่ต้องเร่งรัดเป็นพิเศษคือ 1) ตลาดจีน ซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงในการนำเข้ามันสำปะหลังจากประเทศไทย โดยเฉพาะจีนตอนใต้ที่จะนำไปใช้ผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งในรายละเอียดภายใน 2 สัปดาห์นี้ คณะกรรมการวอร์รูมจะมีคำตอบว่าจะดำเนินการในรูปแบบใดในส่วนของการขยายตลาดจีนตอนใต้ซึ่งมีอยู่หลายมลฑล 2) ตลาดอินเดียซึ่งถือว่ามีศักยภาพและเป็นตลาดที่ไทยสามารถขยายตลาดได้ในอนาคตแม้ว่าจะพึ่งเริ่มต้นก็ตาม โดยเฉพาะแป้งมันที่นำไปใช้ในการทำอาหารและทำซอสปรุงรสของคนอินเดีย 3) ตลาดใหม่สำหรับไทยและมีโอกาสที่จะเปิดตลาดและขยายตลาดได้ โดยเฉพาะในเรื่องของอาหารสัตว์ที่ใช้มันสำปะหลังเป็นส่วนประกอบ เช่น ตลาดตุรกี ตลาดนิวซีแลนด์ แต่เนื่องจาก 2 ตลาดนี้ ยังเป็นตลาดที่ขาดความเข้าใจในเรื่องการใช้วัตถุดิบจากประเทศไทยที่จะนำไปทำอาหารสัตว์ ดังนั้นกระทรวงพาณิชย์จะช่วยทำหน้าที่เป็นตัวหลักในการนัดพบผู้นำเข้าจากตุรกีและนิวซีแลนด์ให้กับผู้ส่งออกอาหารสัตว์ของประเทศไทยต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ