รมว.คมนาคม เร่งรัดโครงการรถไฟไทย-จีน ทบทวนกรอบวงเงินสัญญาระบบรางพร้อมขยายเวลาไปสิ้นปี 62, มั่นใจเปิดปี 66 ตามแผน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 2, 2019 18:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีน ครั้งที่ 5/2562 ว่า ได้ติดตามความคืบหน้าและเร่งแก้ปัญหาอุปสรรค ในการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. วงเงินลงทุน 179,421 ล้านบาท ใน 7 เรื่องด้วยกัน ได้แก่

1.ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืน จำนวน 2,800 ไร่ กรอบค่าเวนคืน 10,369 ล้านบาท ซึ่งได้ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พิจารณาที่เวนคืนเผื่อสามารถนำไปใช้เพื่อเป็นประโยชน์กับประชาชนได้ เช่น สร้างเป็นที่อยู่ รูปแบบ การเคหะ เป็นต้น

2. เจรจารายละเอียดการขอใช้พื้นที่กองทัพบก ช่วงอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เป็นที่ตั้งสำนักงานและก่อสร้างทางรถไฟ ให้ได้ข้อสรุปใน 1 เดือน

3. พิจารณาผลการประกวดราคาทั้ง 14 สัญญาให้มีความสอดคล้องกับพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ให้รฟท.ตรวจสอบคุณสมบัติ ผลงาน ให้เรียบร้อยก่อนประกาศผลเพราะอาจจะทำให้เกิดข้อท้วงติงภายหลัง ซึ่งทำให้เสียเวลา

4. เร่งประกาศประกวดราคาสัญญา 4-4 ศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย ภายในเดือนกันยายน 2562 ส่วนสัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ซึ่งเป็นช่วงที่มีโครงสร้างบางส่วนทับซ้อนกันกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะให้ได้ประมูลในกันยายน 2562 เช่นกัน เนื่องจาก รฟท.กำหนดให้ กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ผู้ชนะการประมูลตอบกลับในเรื่องการส่งมอบพื้นที่วันที่ 9 ก.ย. นี้ หากไม่มีปัญหาจะสามารถลงนามได้ในเดือนก.ย.นี้

5. ตั้งคณะกรรมการเจรจากับฝ่ายจีนเพื่อให้ได้ข้อยุติของสัญญา 2.3 (สัญญาระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งขบวนรถและการฝึกอบรมบุคลากร) ก่อนเสนอสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจร่างฉบับสุดท้าย และนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป ซึ่งทางอัยการมีข้อห่วงใย 12 เรื่อง ซึ่งจะต้องเจรจาเพื่อรักษาประโยชน์ของไทย ทั้งนี้ ให้คณะทำงานไปดูว่า ในสากล มีกรอบอย่างไรเพื่อให้เกิดความความยืดหยุ่นมากขึ้น

6. ขยายระยะเวลาในการดำเนินงาน สัญญา 2.3 (งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล)ซึ่ง รฟท.จะทำเรื่องเพื่อนำเสนอพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอขยายไปถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2562

7. ดำเนินการทบทวนและเสนอเรื่องการปรับกรอบวงเงินสัญญา 2.3 เสนอกระทรวงคมนาคมโดยเร็วเพื่อให้สามารถดำเนินการก่อสร้างและเปิดให้บริการในปี 2566 ตามแผนงาน

นอกจากนี้ได้ตั้งอนุกรรมการ 4 คณะ เพื่อเร่งรัดโครงการให้เป็นไปตามแผนงาน และเปิดได้ตามแผนปี 2566 ได้แก่ คณะอนุกรรมการจัดตั้งองค์กรพิเศษเพื่อกำกับการดำเนินโครงการ รถไฟความเร็วสูง, คณะอนุกรรมการจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางและ จัดทำแผนการถ่ายทอดเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง, คณะอนุกรรมการปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะต่างๆ เพื่อทำหน้าที่ เป็นระบบสนับสนุนผู้โดยสารให้กับระบบรถไฟความเร็วสูง, คณะอนุกรรมการพัฒนาพื้นที่และเมืองตามแนวเส้นทางโครงการ รถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย โดยมีตนเป็นประธาน

สำหรับการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2562 อนุมัติงบกลาง วงเงิน 751 ล้านบาท ให้ รฟท.ดำเนินการจ้างที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียดงานโยธา ขณะนี้รฟท.ได้คัดเลือกที่ปรึกษาแล้ว คาดว่าจะลงนามในสัญญาภายในก.ย.2562 โดยใช้เวลา 19 เดือน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ